กยศ.เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบตัดชำระหนี้กองทุนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ฉบับปรับปรุง เน้นย้ำผู้กู้ยืมจะไม่เสียสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมายใหม่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่เพื่อให้ผู้กู้ยืมได้รับประโยชน์มากขึ้น ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 66 เป็นต้นมา ขณะนี้ทางกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) อยู่ระหว่างการเร่งรัดเพื่อออกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปรับระบบการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ รวมถึงการปรับปรุงระบบการตัดชําระหนี้เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายใหม่ได้กำหนดลำดับการชำระหนี้ไว้ในมาตรา 44/1 (3) ที่ให้เงินซึ่งผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้มานั้นนำไปหักเงินต้นที่ครบกำหนดชำระก่อน จากนั้นค่อยนำไปหักดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดและเงินเพิ่มตามลำดับ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปจากระบบการตัดชำระเดิมที่จะตัดที่เบี้ยปรับก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย และเงินต้น นอกจากนี้ ตามระบบที่กำลังปรับปรุงยังได้ปรับลดเบี้ยปรับให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่เหลือร้อยละ 0.5 จากเดิมร้อยละ 7.5 ด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะนี้ กยศ. ได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลให้ผู้กู้ยืมทราบผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Line Official Account ของ กยศ. โดย กยศ. ได้แจ้งผู้กู้ยืมว่ายอดหนี้ที่มีการชำระตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 66 เป็นต้นมาจะยังไม่เป็นยอดตามกฎหมายใหม่ แต่เมื่อปรับปรุงระบบเสร็จแล้ว กยศ.จะนำยอดชำระทุกรายการตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 66 มาคำนวณการรับชำระอีกครั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งส่วนของลำดับการตัดชำระ และอัตราเบี้ยปรับ โดยที่ผู้กู้ยืมเงินจะไม่เสียสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมายหรือได้รับผลกระทบใดๆ
“หลักเกณฑ์ลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่นี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้กู้ที่มีประวัติผิดนัดชำระซึ่งปกติจะต้องมีเบี้ยปรับเกิดขึ้น จากเดิมเมื่อผู้กู้นำเงินมาชำระจะถูกนำไปตัดเบี้ยปรับก่อน ตามด้วยดอกเบี้ย เหลือแล้วค่อยมาตัดเงินต้น ซึ่งทำให้บางกรณีไม่เหลือเงินมาตัดเงินต้น แต่ตามเกณฑ์ใหม่เงินที่ชำระหนี้เข้ามาจะถูกนำไปตัดเงินต้นที่ถึงกำหนดก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนที่เหลือจึงเป็นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ซึ่งเกณฑ์ใหม่จะทำให้เงินต้นลดเร็ว ลดโอกาสจะเกิดเบี้ยปรับอีก และช่วยให้ชำระหนี้หมดเร็วขึ้นเพราะ กยศ. มีระบบการชำระหนี้แบบลดต้นลดดอก”น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากการปรับเปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว พ.ร.บ.กยศ. (ฉบับที่2) พ.ศ.2566 ได้ปรับปรุงกฎหมายเดิมในสาระสำคัญอื่นๆ อีกหลายประการ อาทิ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี อัตราเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี การทำสัญญากู้ยืมไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 กยศ. ได้ให้กู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษารวม 6,468,483 คน ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,709,850 คนคิดเป็นร้อยละ 26 อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,518,896 คน คิดเป็นร้อยละ 55 อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,170,063 คน คิดเป็นร้อยละ 18 และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 69,674 คน คิดเป็นร้อยละ 1 ส่วนปีการศึกษา 2566 กยศ. ได้เตรียมวงเงินกู้ยืมกว่า 40,000 ล้านบาท รองรับความต้องการกู้ของนักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศประมาณ 6 แสนคน