นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ ( 28 มีนาคม 2566) รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ภาคงบประมาณ
-สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายได้
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 2,531,656 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.57 จากปีก่อน มาจากกลุ่มรายได้ที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจสูง กลุ่มรายได้ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและกลุ่มรายได้จากการค้าระหว่างประเทศขยายตัวจากปีก่อน อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 (COVID-19) ทั้งนี้ มุมมองความเสี่ยงด้านรายได้ในปีงบประมาณ 2566 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน
-สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่าย
วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.66 จากปีก่อน ขณะที่รายจ่ายที่ยากต่อการลดทอนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.72 สาเหตุสำคัญมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ปรับตัวลดลง และการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายเพื่อชำระหนี้และภาระผูกพันจากการดำเนินนโยบายในอดีต และรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ ส่งผลรายจ่ายลงทุนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 19.74 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้ แนวโน้มความเสี่ยงด้านรายจ่ายในระยะปานกลางจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2565 จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่กลับมาขยายตัวได้ในระดับปกติ
-สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
ระดับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 624,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน จากการเกินดุลเงินสดของภาคงบประมาณเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ระดับเงินคงคลังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2562 สะท้อนถึงสภาพคล่องการเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงอยู่ในระดับบริหารจัดการได้
- สถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงด้านหนี้
ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 10,373,937.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.41 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา
2. ความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
2.1 เงินกองทุนประกันสังคมปรับลดลงจากปีก่อน จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ลดลง และการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 รวมทั้ง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้จำนวนผู้ประกันตนวัยแรงงานเข้าสู่ระบบลดลงด้วย
2.2 การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และการเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้กับสมาชิกในปี 2566 อาจทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยส่วนต่างผลตอบแทน หาก กอช. ไม่สามารถบรรลุอัตราผลตอบแทนตามที่รับประกันไว้
2.3 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบจำนวนมาก จากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนต้องจ่ายเงินอุดหนุนชดเชยราคาก๊าซ LPG และราคาขายปลีกดีเซล เพื่อพยุงราคาในประเทศไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะคลี่คลายลง และกองทุนจะสามารถชำระหนี้คืนได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต
2.4 ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปีบัญชี 2565 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมลดลง โดยสาเหตุสำคัญมาจากรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าผัน แปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและประชาชน
2.5 ฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial:SFIs) ภาพรวมยังคงอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ควรติดตามระดับหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากการด้อยคุณภาพลงของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 และมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่สิ้นสุดลงในปี 2565
2.6 ฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมอยู่ในระดับแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐานสากล และคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ 2565 ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการคุณภาพหนี้
2.7 ภาคประกันภัยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 โดยยอดเงินขอรับชำระหนี้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินกองทุนประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเป็นไปในลักษณะของการทยอยจ่าย จึงทำให้กองทุนยังสามารถบริหารจัดการยอดขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ และเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในวงจำกัด
2.8 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปรับตัวดีขึ้นในปีงบประมาณ 2565 อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ อปท. มีรายได้จากภาษีที่ดินฯ ลดลง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานความเสี่ยงทางการคลัง รัฐบาลสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการคลังในปีงบประมาณต่อไปได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังและงบประมาณ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและ ภาคธุรกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่การก่อหนี้กว่าร้อยละ 70 ยังเป็นหนี้เพื่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อการเติบโตอย่ายั่งยืน ซึ่งบางประเทศยังนำแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นโมเดลในการพัฒนาประเทศด้วย