บัตรเหมาจ่ายหรือบัตร Transit Pass Red Line BKK X BMTA เป็นบัตรโดยสารที่สามารถใช้เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) สูงสุดจำนวน 50 เที่ยว และรถเมล์ ขสมก. ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศแบบไม่จำกัดเที่ยว โดยคิดราคาเหมาจ่าย 2,000 บาท (ไม่รวมค่าธรรมเนียมออกบัตร 100 บาท) และสามารถใช้งานได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ผู้โดยสารใช้บัตรครั้งแรกที่รถไฟฟ้าสายสีแดง หรือรถเมล์ ขสมก.
ผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรเหมาจ่าย Transit Pass Red Line BKK X BMTA ครั้งแรกได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเขตการเดินรถตามที่ ขสมก. กำหนด โดยสามารถเติมเงินเข้าบัตรได้ทางตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย, แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT, การเติมเงินผ่านการสแกน QR Code หลังบัตร รวมถึงโมบายแบงก์กิ้งของทุกธนาคาร และการชำระเงินสดผ่านเครื่อง EDC ณ จุดจำหน่ายบัตร
สำหรับการใช้งานบัตรเหมาจ่ายนั้น ผู้โดยสารสามารถ ‘แตะจ่าย’ ได้ที่จุดชำระเงินของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเครื่อง EDC บนรถเมล์ ขสมก. ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยี EMV Contactless หรือ Europay MasterCard and VISA ระบบการชำระเงินที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าโดยสารในระบบคมนาคมตามมาตรฐานระดับสากล
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาบัตรเหมาจ่ายไปสู่ระบบตั๋วร่วมที่สมบูรณ์แบบ สามารถใช้สำหรับการเดินทางของประชาชนในภาคขนส่งอื่น ๆ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางได้ในทุกระบบด้วยการใช้บัตรโดยสารหรือตั๋วร่วมเพียงหนึ่งใบ และคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถนำไปซื้อสินค้าและชำระค่าบริการต่าง ๆ ได้
ทางด้าน นางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบุว่า การพัฒนาบัตรโดยสารร่วมที่สามารถใช้บริการได้ทั้งรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดงในครั้งนี้ ถือเป็นการนำร่องระบบตั๋วร่วมระหว่างระบบล้อและระบบรางเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวก ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการใช้ระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นต่อไป
ขณะเดียวกัน นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ก็พร้อมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักถึงความสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งของประเทศที่เป็นกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ
ธนาคารกรุงไทยจึงได้วางยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้การคมนาคมขนส่งเป็น 1 ใน 5 ระบบนิเวศหลัก (Ecosystems) ที่ธนาคารมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และในอนาคตมีแผนเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ เพื่อการบูรณาการตั๋วร่วมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป