นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การจมน้ำเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญ โดย 5 ปีที่ผ่านมา (2561 – 2565) ในช่วงฤดูร้อนและช่วงปิดภาคเรียน มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงสุด ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เฉพาะเดือนเมษายน มีการจมน้ำมากที่สุดถึง 65 ราย ส่วนใหญ่เกิดเหตุในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง รองลงมา เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ/ฝาย, ทะเล รวมไปถึงภาชนะเก็บน้ำภายในบ้าน และสระว่ายน้ำ
กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเพื่อป้องกันการจมน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก และชุมชน ตระหนักถึงความเสี่ยงและวิธีการป้องกันการจมน้ำ และร่วมกับทีมผู้ก่อการดี สอนทักษะการว่ายน้ำให้เด็กเพื่อเอาชีวิตรอด สอนวิธีการช่วยคนตกน้ำ และสอนการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งนอกจากจะช่วยคนที่จมน้ำแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ด้วย ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ปกครองต้องดูแลไม่ให้คลาดสายตา และไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพังเด็ดขาดแม้จะอยู่ในห่วงยางหรือใส่เสื้อชูชีพ รวมถึงควรจัดให้มีพื้นที่เล่นอย่างปลอดภัย 1 คน ต่อ 1 คอกกั้นเด็ก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่นๆ เช่น รถทับ น้ำร้อนลวก เป็นต้น
นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยทันทีแต่ควรใช้วิธีที่ปลอดภัย คือ 1.ตะโกน ขอความช่วยเหลือคนที่อยู่แถวบริเวณที่เกิดเหตุ 2.โยน อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ (ห่วงชูชีพ, ถังแกลลอน, ถังพลาสติกเปล่า) ให้เกาะลอยน้ำ 3.ยื่นอุปกรณ์ เช่น ไม้ เชือก เสื้อ เข็มขัด ให้จับและดึงขึ้นจากน้ำ และเมื่อช่วยคนจมน้ำขึ้นมาแล้ว ห้ามอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกเอาน้ำออก เนื่องจากเป็นวิธีการช่วยเหลือที่ผิด และจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานขึ้น หากพบว่าไม่หายใจ ให้รีบทำ CPR และโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 ทันที