ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
03 เม.ย. 2566

ปัจจุบันเรื่องของสุขภาพได้กลายเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่งของประชากรทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมากว่าทศวรรษ กล่าวได้ว่า การบริการสุขภาพของประเทศไทยก้าวหน้าไปมาก จนได้รับคำชื่นชมจากทั่วโลกอย่างไม่คาดคิดซึ่งนอกเหนือจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องได้ความชื่นชมด้วยแล้ว บุคลากรทางการแพทย์อีกหลายท่านยังคงต้องได้การกล่าวถึงด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือสช. คนปัจจุบันที่ อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้จะนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จัก

  • ย้อนอดีตก๊วนหมอนักกิจกรรมการเมือง

คุณหมอประทีป เริ่มเล่าย้อนชีวิตในวัยเรียนให้ฟังว่ามัธยมศึกษาระดับชั้นต้น คุณหมอเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และเริ่มคิดที่อยากจะเรียนกฏหมายในช่วงนั้นเนื่องจากก่อนปี2516 มีการอภิปรายของนักวิชาการในยุคที่จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียรเรืองอำนาจ โดยไปดูโต้วาทีแทบจะทุกวันและเป็นเรื่องของการเมืองทั้งสิ้นจะเห็นทั้งท่านวีระมุสิกพงศ์ ท่านสมัคร สุนทรเวช แต่พอมาชั้นมัธยมปลายเริ่มเปลี่ยนแนวคิดที่จะหันมาเรียนสายแพทย์เพราะอยากจะช่วยเหลือคน ช่วยสังคม

และในที่สุดก็ได้เข้าเรียนแพทย์ที่รามาธิบดี ช่วงก่อนเหตุการณ์ 16ตุลาคม2516 คุณหมอจำได้ว่าเรียนหมอปี2 เกิดเหตุการณ์ 6ตุลาคม2519อีก กิจกรรมนักศึกษามีการเคลื่อนไหวมาก “ผมเองเป็นรองนายกสโมสรนักศึกษา และยังเป็นประธานสภานักศึกษา ส่วนคนที่เป็นนายกสโมสรก็คือคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ผมประมาณ3ปี ช่วงนี้มีหมอนักกิจกรรมหลายคน เช่น คุณหมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ก็เคยเป็นนายกสโมสรนักศึกษา คุณหมอพรหมมินทร์ เลิศสุริยะเดช ทำให้การเมืองซึมซับเข้าไปเยอะ แต่ก็ยังเรียนไปทำกิจกรรมไปด้วยแต่จะเน้นไปทางกิจกรรมมากกว่าเพราะบ้านเมืองช่วงนั้น รัฐบาลใช้อำนาจรังแกนักศึกษา ประชาชน”

  • บัญฑิตหมอใหม่ลงเมืองจันท์แต่วางฐานที่ราษีไศล  

  คุณหมอประทีป เล่าต่อไปว่า หลังเรียนจบหมอรามาฯ ก็ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี แต่เมื่อทำงานไปได้สักพักจู่ๆก็มีจดหมายน้อยมาถึง เป็นจดหมายของคุณหมอสงวนที่เคยร่วมกิจกรรมกันสมัยเป็นนักศึกษา คุณหมอสงวนตอนนั้นอยู่ที่โรงพยาบาลราษีไศล ศรีสะเกษ เนื้อความบอกว่า อยากจะตั้งทีมสุขภาพ โดยมีทันตแพทย์ เภสัชฯร่วมทำงานกัน “ผมติดลูกเกรงใจรุ่นพี่ ตัดสินใจนั่งรถไฟขอไปทำงานที่โรงพยาบาลราษีไศล นั่งรถไฟไปลงที่อุทุมพรพิสัย แล้วเช้าไปถึงที่ราษีฯ รถสมัยก่อนส่งผู้โดยสารถึงหมู่บ้านกันเลย มาถึงโรงพยาบาลราษีฯ ก็นึกว่าเป็นชนบทเอามากๆ แต่ไปเห็นเป็นโรงพยาบาลที่เจริญอยู่ระดับหนึ่งการทำงานที่โรงพยาบาลราษีฯ วัฏจักรคือ เข้าโรงพยาบาล ตรวจคนไข้ ผ่าตัด กินเข้า แล้วออกหมู่บ้าน เยี่ยมประชาชน”

“เป็นอยู่อย่างนี้จึงรู้ว่าชาวบ้านเป็นอะไร ต้องการอะไร ซึ่งจะทำให้เขาไม่ต้องมาโรงพยาบาล ถ้าเราออกไปหาชาวบ้าน เราจะมียาและเครื่องตรวจฟังไปด้วย ถ้ามองถึงขณะนี้ในเรื่องลดความอัดในโรงพยาบาล เราเองได้ทำมาก่อนแล้ว แค่เป็นวิธีการบริหารจัดการคนไข้ไม่ได้เป็นนโยบาย หรือการตั้งทีมหมอครอบครัวก็เช่นเดียวกัน ผมกับคุณหมอสงวน จัดทีมสุขภาพขึ้นมา หลังจากนั้นสิ่งแรกที่ได้ทำไว้ที่นั่นคือ การตั้งกองทุนยา เริ่มใช้ กับอสม.จนมาถึงปัจจุบัน”

“เรื่องของมันคือว่าชาวบ้านเวลาเจ็บไข้ไม่สบายมักจะกินยาชุด ยาแก้ปวดต่างๆ บางคนกินจนกระเพาะทะลุ จึงหาวิธีให้ชาวบ้านใช้ยาให้ถูกต้อง ผมอยู่ที่นี่ประมาณปีเศษๆ ถือว่าเริ่มต้นของการทำทีมสุขภาพเล็กๆ เพราะช่วงนั้นเราออกไปเยี่ยมหมูบ้าน ชุมชนที่มีมากกว่า140หมู่บ้าน หลังจากนั้นต้องแยกกัน โดยคุณหมอสงวนย้ายไปที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ นครราชสีมา ส่วนผมต่อมาย้ายไปเป็นผู้อำนวยการที่โรงพยาบาลสตึก บุรีรัมย์ ซึ่งมีขนาดเล็กมากซึ่งมาทำงานอยู่ได้สักพัก ต้องกลับไปสู่ที่โรงพยาบาลราษีไศลในตำแหน่งผู้อำนวยโรงพยาบาล คราวนี้อยู่นาน5-6ปี ผมเองไปเรียนต่อที่เบลเยี่ยมอยู่พักหนึ่ง แล้วไปดูงานที่ญี่ปุ่น”

  • หมอสงวนเรียกตัวเข้ากระทรวงฯ พัฒนาสถานีอนามัย

สำหรับการก้าวเข้สู่กระทรวงสาธารณสุข คุณหมอประทีป บอกว่า ก็คนเดิมอีกนั่นแหละ คุณหมอสงวนในช่วงที่มาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดที่จะทำเรื่องสถานีอนามัย ซึ่งถือเป็นทศวรรษแห่งสถานีอนามัยด้วยเงิน2หมื่นล้านทำเรื่องนี้ จำได้สมัยก่อนถ้านึกถึงอนามัยจะเป็นอาคารไม้2ชั้น มีคนทำงานเพียง2คน ที่บอกว่า10ปีของการพัฒนาสถานีอนามัยคือช่วงปี2535แต่พอ 2545 มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่างมากได้ขยายสถานีอนามัยให้สะดวกในการรับบริการมากขึ้น มีการร่วมมือกับวิทยาลัยพยาบาล ผลิตผู้ช่วยพยาบาล ผลิตผู้ช่วยทันตาภิบาล ดูแลสุขภาพช่องปาก ตั้งใจให้มีทีมทำงานของสถานีอนามัยประมาณ5-7คน นั่นคือระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ครบวงจรจะอยู่ที่สถานีอนามัย

เมื่อก่อนการพัฒนาจะลงมาแค่โรงพยาบาลอำเภอ สร้างอสม. ลดต้นทุนยา ซึ่งก็มีเป็นจำนวนมาก แต่ขาดสถานีอนามัยตำบล มีอีกช่วงหนึ่งที่ระบบสาธารณสุขเดินหน้ามากไปทีเดียวในช่วงที่รัฐบาลทักษิณเป็นนายกฯ “ผมได้มีส่วนไปช่วยงานพัฒนาระบบสุขภาพที่คุ้นกันดีคือระบบสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตร30บาท แต่เราได้วางรากฐานไว้ ช่วงนั้นทีมงานในกระทรวงเป็นกลุ่มแพทย์นักกิจกรรมที่มารวมตัวกัน คุณหมอสงวน คุณหมอพรหมมินทร์ คุณหมอสุรพงษ์ ผมเอง แต่ที่ไม่ลืมคุณหมอวิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร คนนี้เป็นผู้ออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เรียนจบที่อังกฤษ พร้อมกับคุณหมอสงวน ออกแบบการเงินการคลัง อย่างของประกันสังคม แล้วเกิดหลักประกันสุขภาพ ส่วนคุณหมอพรหมมินทร์เป็นเหมือนเสธ.คนเก่ง”

  • มติสมัชชาสู่นโยบายรัฐบาลคือความภูมิใจของเลขฯ สช.

สำหรับภารกิจของสช.ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ โดยผ่านเครื่องมือหรือกลไกทางสมัชชาสุขภาพ โดยที่นโยบายของภาครัฐอย่างเดียวไม่พอ ซึ่งมติที่ออกมากว่าเกือบ100มติ ผ่านสมัชชาสุขภาพแล้วมากำหนดเป็นนโยบายและพร้อมจะนำไปปฏิบัติ มีหลายเรื่องที่เป็นผลงาน เช่น เรื่องของแร่ใยหิน ที่ทำงานเรื่องนี้มานาน จนที่สุดครม.มีมติให้เลิกใช้เลิกนำเข้า ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือมีการลดละเลิกใช้แร่ใยหินน้อยลง เพราะเป็นบ่อเกิดของมะเร็งปอด เรื่องของการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ยาฆ่าเชื้อในชนบทใช้กันมาก ยาแก้ปวด สเตียรอยด์ มีการใช้น้อยลงมาก

และแค่สมัชชาอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆทั้งฝ่ายการเมืองฝ่ายราชการ ซึ่งเห็นผลเพราะต้องใช้ กฎหมาย ใช้งบประมาณ ซึ่ง5ปีที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่รัฐบาลนำไปใช้เป็นนโยบาย เรื่องการออกกำลังกาย เรื่องบำนาญถ้วนหน้าประกันรายได้ ความยากจน โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 มีภาคประชาชนบวกราชการซึ่งเป็นภาคีสมัชชาสุขภาพ ระดับจังหวัด ตำบล ชุมชนหมู่บ้าน ร่วมมือกันเป็นเอกภาพ อีกกลไกสำคัญคือธรรมนูญสุขภาพซึ่งขณะนี้มีการใช้กลไกนี้ขยายเป็นวงกว้างจำนวนหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นี่คือบทบาทเลขาฯ สช.ที่มาบริหารองค์กรนี้

  • ขยายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ +เมืองพัทยา

หมอประทีป บอกอีกว่า เครื่องมือขับเคลื่อนอย่างสมัชชาสุขภาพนั้นล่าสุดมีการขยายตัวไปยังเมืองหลวงซึ่งมีภาคีจำนวนมากทำอยู่แล้วแต่มารวมกันเพื่อทำงานอย่างเป็นระบบคือสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครโดยท่านผู้ว่าฯคนปัจจุบันแอคทีพมากในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของสุขภาพคนเมือง เกิดเวทีเสียงกรงเทพฯ เวทีเครือข่ายปลุกคนกรุงเทพฯ เรื่องสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย เมื่อในการประชุมสมัชชาสุขภาพครั้งล่าสุดเมื่อปลายธันวาคม2565 สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯได้นำประเด็นต่างๆเข้ามานำเสนอหลายเรื่อง อีกกลุ่มคือสมัชชาสุขภาพเมืองพัทยาก็ตั้งทีมกันแล้ว เมื่อนักท่องเที่ยวมาเป็นหมื่นๆคนเมืองพัทยาต้องรับมือด้านสุขภาพมากขึ้น ล่าสุดทีมงานได้ลงพื้นที่เกาะล้านมีการเสวนาเครือข่ายเพื่อรับมือเกาะล้านที่จะส่งผลกระทบกับคนในเกาะจากที่นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวมากมาย             

  • ถ่ายโอนรพ.สต.-รวมพลังภาคีหนึ่งเดียวอนาคตที่ท้าทาย

งานสช.ในอนาคตยังมีอีกหลายเรื่อง แต่การทำงานกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศนั้นกำลังเติบโต ฉะนั้นมติต่างๆที่ออกมานั้นจะเป็นการวมหลอมความคิดจากเวทีแห่งนี้จากคนหลายๆกลุ่มที่มองเรื่องสุขภาพว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เวลานี้เราได้สร้างแนวร่วมที่เป็นเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมเวทีด้วย รวมถึงผู้บริหารรุ่นหนุ่ม40อัพที่มองเห็นอนาคตของเขาต่อจากนี้ว่าจะมีปัญหาอะไรบ้าง ขณะนี้มีเรื่องของอาวุธปืน เรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่นแนวโน้มมากขึ้น ซึ่งทุกองคาพยพที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยรวม จะเป็นพลังที่มีอำนาจและอิทธิพลที่จะกำหนดอนาคตของไทยว่าประชาชนทั้งประเทศต้องการอะไร ซึ่งจะเป็นเวทีที่เอาคนทั่วประเทศมารวมตัวกันเกิดเป็นกระแสสังคม

มีเรื่องใหญ่ที่ฝันน่าจะเป็นจริงคือการโอนถ่ายสถานีอนามัยหรือรพ.สต.ไปอยู่กับอบจ. หากจะบอกว่าระบบสุขภาพแต่เดิมนั้นถ้าอยู่ที่เดิมก็คงจะก้าวหน้าได้ไม่มาก ก่อนปี2535ทุกอย่างแทบจะน้อยมาก แต่ทีมสุขภาพที่ผมได้ร่วมกับหมอสงวนและกลุ่มหมอ ระบบสถานีอนามัยพัฒนามากขึ้นทันตาเห็นมีอาคารเพิ่ม บุคคลากรเพิ่ม ผู้ใช้บริการเพิ่มเครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มแต่ระบบสุขภาพยังอยู่ระดับปฐมภูมิ

“การโอนถ่ายครั้งนี้เป็นการเติมเต็มอย่างครบวงจร อบต.กว่า5,000แห่งมีงบประมาณน้อยเมื่อมาอยู่ที่อบจ.จะขยับตัวได้มากสำคัญคือหลังถ่ายโอนการบริการสาธารณสุขต้องดีขึ้นกว่าเดิม ขยายบริการเชิงรุก เป็นองค์รวมมากขึ้น และต้องเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลใหญ่ น่าจะรออีก5ปี รพ.สต.จะมีระบบสาธารณสุขที่ครบถ้วน เรื่องเด็ก จะมีบริการเรื่องอนามัยช่องปาก การได้ยิน สายตา ช่วงเด็กโต จะมี อนามัยเจริญพันธุ์ จิตวิทยาวัยรุ่น ส่วนผู้สูงอายุจะมีเรื่อง ทันตกรรม โฮมแคร์ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์พักคอยนี่คือสิ่งสุดท้ายที่ผมอยากเห็น“

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...