นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวน กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 6 คน เดินทางไปทัวร์ตรวจการเลือกตั้งในต่างประเทศพร้อมๆ กัน ในขณะที่การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภายในประเทศมีปัญหามากมาย ทำให้ประชาชนและนักการเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ ก่อให้เกิดการเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง เข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
นายศรีสุวรรณ ระบุต่อไปว่า สืบเนื่องจาก กกต.ทั้ง 6 คน ถือโอกาสเดินทางไปต่างประเทศพร้อมๆ กันในช่วงวันที่ 4-14 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไปตรวจการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ปัญหาการจัดการเลือกตั้งภายในประเทศกำลังมีปัญหาให้ กกต. ทั้งคณะวินิจฉัยเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน อาทิ เว็บไซต์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าล่มในวันสุดท้าย (9 เม.ย. 2566) ซึ่งสุดท้ายก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ มีแต่คำขอโทษของเลขาธิการ กกต. รวมทั้งประเด็นข้อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ทำให้การเลือกตั้งอาจเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดหาของชำร่วยที่นำติดตัวไปมอบให้สถานทูต อุปทูตในประเทศต่างๆ ที่เดินทางไปตรวจเยี่ยม ซึ่งถูกครหาว่าจัดซื้อโดยวิธีเจาะจงถึง 2 ครั้ง ด้วยเงินจากภาษีของประชาชน 199,471 บาท โดยเฉลี่ยจะนำไปมอบให้ประเทศละกว่า 19,000 บาท ซึ่งเกินกว่า 3,000 บาท ขัดต่อประกาศของ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 และหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2565 หรือไม่
ที่สำคัญมีข้อพิรุธอีกประการ นายศรีสุวรรณ เผยว่า การเดินทางไปตรวจการเลือกตั้งที่ประเทศเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ของ นายปกรณ์ มหรรณพ ซึ่งเป็นหนึ่งใน กกต. นายปกรณ์ เคยไปตรวจการเลือกตั้งเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 มาครั้งหนึ่งแล้ว ทำไมต้องไปตรวจซ้ำ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ามีอะไรพิเศษนอกเหนือกว่าการไปตรวจเลือกตั้งหรือไม่ หรือสถานทูต 2 ประเทศไร้ประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งต่างแดน จนต้องให้ กกต. หน้าเดิมมาสอนทุกการเลือกตั้งหรือไม่
“ข้อพิรุธต่างๆ ดังกล่าว ไม่ควรปล่อยผ่านเลยไป ก่อนที่ กกต.คณะนี้จะหมดวาระลงไปในอีก 2 ปีข้างหน้า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความมาร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวน สอบสวน เอาผิด หากวินิจฉัยว่าเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และอาจฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในวันนี้