ป.ป.ช. แจงละเอียด ปมให้พรรคการเมืองส่งเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบายแก่ กกต. ยันเป็นกลไกตรวจสอบกฎหมาย เพื่อความโปร่งใส ยับยั้งความเสียหายแก่ประเทศ เผยเลือกตั้งจบ กกต.ต้องสรุปส่งมาให้
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2566 นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะ รองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวกรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ ลต 0015/ว1104 ลงวันที่ 3 พ.ค.66 เรื่อง เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย ถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อจัดส่งเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนำไปใช้ประกอบการวิเคราะห์การพัฒนานโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองและเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จให้จัดส่งมายังสำนักงาน ป.ป.ช. โดยตรงต่อไปนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ขอเรียนชี้แจงว่า เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ เป็นกลไกป้องกันการทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พัฒนามาจากเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงเพื่อสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการของรัฐ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบเมื่อเดือน มิ.ย.62 โดยได้มีการทบทวนปรับปรุงเกณฑ์ฯ ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทการเมืองไทยในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นกลไกในการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง
นายภูเทพ กล่าวว่า โดยคาดหวังว่าจะช่วยในการป้องกัน ระงับ ยับยั้ง การทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในปัจจุบันที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล ตลอดจนจะช่วยเป็นเครื่องมือให้พรรคการเมืองได้แสดงเจตนารมณ์ที่ดีในการอธิบายที่มา วัตถุประสงค์ ความคุ้มค่า ผลกระทบความเป็นไปได้ของนโยบายที่กำหนดขึ้นมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มติเห็นชอบเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 ก.พ.66 และให้เสนอต่อ กกต.ตามนัยมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว เพื่อนำไปประกอบการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ต่อไป
นายภูเทพ กล่าวอีกว่า โดยเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กกต.จะต้องดำเนินการสรุปผลการดำเนินการขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ และส่งข้อมูลให้แก่สำนักงาน ป.ป.ช. โดยองค์ประกอบของการสรุปผลอย่างน้อยประกอบไปด้วย 1.แบบฟอร์มการประเมินความเสี่ยงฯ 2.ข้อมูลสรุปผลเชิงปริมาณ ได้แก่ 1.รายชื่อพรรคการเมืองที่ขึ้นทะเบียนไว้ 2.รายชื่อพรรคการเมืองที่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 3.รายชื่อพรรคการเมืองที่ดำเนินการจัดทำแบบฟอร์มการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริต เชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย 4.รายชื่อพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมจัดทำแบบฟอร์มการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย 5.รายชื่อพรรคการเมืองที่เป็นพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 6.รายชื่อพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นพรรคที่ดำเนินการจัดทำแบบฟอร์มการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย
นายภูเทพ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลสรุปผลเชิงคุณภาพ ได้แก่ 1.ความคิดเห็นของ กกต. เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ ที่ได้ใช้ประกอบการจัดการเลือกตั้ง ในปี 66 ว่ามีข้อดี ข้อเสีย ปัญหาหรืออุปสรรค และข้อเสนอในการขับเคลื่อนเกณฑ์ซี้วัดความเสี่ยงฯ ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป 2.ความคิดเห็นของพรรคการเมืองต่อการดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยง ต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ตามแบบฟอร์มการประเมินความเสี่ยงฯ ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย ว่ามีข้อดี ข้อเสีย ปัญหาหรืออุปสรรค และข้อเสนอในการขับเคลื่อนเกณฑ์ซี้วัดความเสี่ยงฯ ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป การดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อ ครม. รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการ รวมทั้งจัดให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มงวด ดังนั้น ข่าวที่นำเสนอจึงมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ได้ประสงค์จะให้พรรคการเมืองจัดส่งแบบฟอร์มเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯมายังสำนักงาน ป.ป.ช. แต่ประการใด