กรมสุขภาพจิตจัดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 16 และการประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็ก ครั้งที่ 14 ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม เน้นประเด็น “ซึมเศร้า...เราคุยกันได้” (Depression, Let’s Talk) พัฒนาแอพพลิเคชั่นโดนใจวัยรุ่น Mindfit ป้องกันซึมเศร้า
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ศูนย์เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า ได้ทำวิจัยกลุ่มวัยรุ่นไทย อายุ 15-18 ปี ที่มีประสบการณ์ซึมเศร้า ทั้งชายและหญิง ทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จำนวน 177 คน พบว่า ลักษณะอาการเด่นที่พบมากในวัยรุ่น คือ การแยกตัว หงุดหงิด มีอารมณ์เศร้า คิดว่าตนเองไร้ค่า เด็กผู้ชายมักทำกิจกรรมที่โลดโผน ใช้ความเร็ว ร่วมกับมีอารมณ์วู่วาม ในขณะที่ผู้หญิงจะพบการร้องไห้หรือระบายอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการซึมเศร้าของวัยรุ่น พบว่า เกิดจากปัจจัยด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านครอบครัว เช่น พ่อแม่แยกทางกัน ทะเลาะกันบ่อยๆ ถูกคาดหวังสูง รู้สึกน้อยใจ ไม่ได้รับความรัก ครอบครัวมีรายได้น้อยและมีหนี้สิน ด้านสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น เช่น มีปัญหากับเพื่อน ไม่ได้รับการยอมรับ ด้านบุคลิกภาพ การเจ็บป่วย และการรับรู้ตนเอง เช่น เป็นคนเลือดร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น เก็บกดความเครียดไว้ในใจ มีปัญหาหนี้สิน มีโรคประจำตัวเรื้อรังรักษาไม่หายขาด มีประวัติเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เหงา โดดเดี่ยว ไม่มีคนที่สามารถระบายความเครียด หรือพึ่งพาได้ ด้านการเรียน เช่น เรียนมากเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ผลการเรียนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ด้านความรัก เช่น ถูกแฟนที่อยู่ด้วยกันทิ้งไป ด้านประสบการณ์การสูญเสีย หรือประสบกับเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เช่น เจอกับเรื่องผิดหวังมากๆ ในชีวิต พิการ เพิ่งย้ายหรือเปลี่ยนโรงเรียน พ่อหรือแม่ป่วยหนัก ท้องในวัยเรียน เคยทำแท้ง มีคนในครอบครัวเป็นโรคทางจิตหรือโรคซึมเศร้า อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและการถูกกระทำทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เช่น ถูกบังคับ ทำให้รู้สึกอาย พ่อแม่ทำร้ายร่างกาย คนรอบข้างกล่าวตำหนิบ่อยๆ ถูกโพสต์ตำหนิในโลกโซเชี่ยล ถูกรุมด่า เพื่อนล้อ เพื่อนแกล้ง รู้สึกมีปมด้อย เสียหน้า ครูเข้มงวดเกินไป ดุ และใช้คำพูดไม่เหมาะสม เป็นต้น
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของวัยรุ่นได้อย่างตรงจุดจากการฟังเสียงสะท้อนของพวกเขา จึงได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Mindfit ขึ้น เพื่อป้องกันการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ด้วยการแปลงกิจกรรมในการปรับความคิดและพฤติกรรมมาเป็นกิจกรรมง่ายๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ประกอบด้วย กิจกรรมในการปรับความคิด การจัดการกับปัญหา การปรับพฤติกรรม การฝึกคิดบวก การแสดงความรู้สึก และการปรับเป้าหมายของชีวิต โดยจะมีการประเมินอาการซึมเศร้าด้วยการใช้สัญลักษณ์หน้าตา ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังการประเมิน ผลการประเมินจะประมวลออกมาเป็นพลังใจ ถ้าซึมเศร้ามากพลังใจจะน้อย และจะมีกิจกรรมต่างๆให้ทำเพื่อเพิ่มพลังใจให้มากขึ้น ตลอด 1 เดือน ซึ่งแต่ละวันจะมีการเตือนจากโทรศัพท์ในการให้กำลังใจและให้รางวัล เช่น กิจกรรมที่ต้องทำ คือ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากในช่วงเวลาที่ควรนอนนั้น ยังมีการหยิบใช้โทรศัพท์อยู่ โทรศัพท์ก็จะมีการเตือนให้พักผ่อนได้แล้ว เป็นต้น โดยพร้อมเปิดให้บริการดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งระบบ Android และ iOs กันยายน นี้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว