ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9
15 พ.ค. 2566

พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นเพชรเม็ดงามด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เนื่องด้วยเป็นแหล่งลงทุนสำคัญของประเทศ จึงได้มีแผนพัฒนาการลงทุนหลากหลาย เช่น รถไฟความเร็วสูง เมืองการบินอู่ตะเภา ท่าเรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม 21 เขต การส่งเสริมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเดิม และการเกษตรกรรม ซึ่งแน่นอนว่าการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เช่น “น้ำ” ให้เพียงพอต่อการใช้งานในรูปแบบอุตสาหกรรมและอุปโภค - บริโภค ในครัวเรือน ก็ถือเป็นหลอดเลือดสำคัญที่จะทำให้ EEC โตอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน

อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงอยากจะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกับบุคคลผู้หนึ่ง ที่ได้รับมอบหมายพันธกิจสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อพื้นที่ EEC เพื่อรองรับกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ และเขาผู้นั้นก็คือ คุณทินกรเหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9หรือพี่เฉา

คุณทินกร เหลือล้น หรือพี่เฉา ในวัย 56 ปี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวว่า เขาเป็นคนพื้นเพแถวในภาคอีสาน เกิดที่จังหวัดสุรินทร์แล้วมาศึกษาที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยสาเหตุที่ทำให้ต้องเดินมาในเส้นทางราชการ เนื่องจากมีคุณพ่อรับราชการ อีกทั้งได้รับคำปรึกษาจากอาจารย์แนะแนว ที่ได้แนะนำสถาบันการศึกษาต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง ประกอบกับตัวเองมองว่าอาชีพราชการเป็นอาชีพที่มั่นคงจึงได้ไปศึกษาที่โรงเรียนการชลประทาน หรือ วิทยาลัยการชลประทาน โดยเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในปัจจุบันซึ่งหลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียนการชลประทาน ก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเลย โดยพี่เฉา ได้เล่าสิ่งที่เล่าเรียนมาเอาไว้ว่า

“ขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นก็ศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งถูกพร่ำสอนจากคณาจารย์ของโรงเรียนการชลประทาน ของกรมชลประทาน และมหาวิทยาลัยที่เน้นทางเรื่องวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งผมก็เน้นหนักในเรื่องวิชาการชลประทาน ไม่ว่าจะเรื่องการก่อสร้าง สำรวจออกแบบ พิจารณาโครงการ ออกแบบคลองส่งน้ำ ออกแบบคอนกรีต ออกแบบโครงสร้างต่างๆ รวมถึงหลักการชลประทาน ก่อนจะจบการศึกษาก็ได้รับการฝีกงานด้านการก่อสร้าง สำรวจ งานด้านชลประทานการส่งน้ำเป็นต้น”

พี่เฉายังเล่าด้วยว่า นอกจากนี้ ตัวพี่เฉายังไปศึกษาเพิ่มเติมวุฒิปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชา การจัดการงานก่อสร้าง เรียนมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ คณะวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชา วิศวกรรมโยธา เรียนปริญญาโทมหาวิทยาลัยรามคำแหง ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา รัฐศาสตร์และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา วิศวกรรมชลประทาน  ก่อนจะไปเรียนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา ยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค

ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 9ที่ตนเองดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในส่วนภูมิภาคของกรมชลประทานและขึ้นตรงกับรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา และอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 9 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบภาคตะวันออก 8 จังหวัดได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยองจังหวัดฉะเชิงเทรา  จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก โดยดูแลด้านชลประทานตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การก่อสร้าง การเชื่อมโยงการส่วนร่วมของประชาชน  รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในภาคส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก

                จากการได้รับหน้าที่รับผิดชอบการบริหารจัดการแหล่งน้ำในภาคตะวันออกประมาณ 2 ปี ทำให้พบว่า มีความหลากหลายในการใช้น้ำ อาทิ การใช้น้ำเพื่ออุปโภค - บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร การใช้น้ำสำหรับอุตสาหกรรม โดยกรมชลประทานจะโฟกัสการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค – บริโภคเป็นสำคัญ ถัดมาคือการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ การใช้น้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการใช้น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว โดยการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกจะมี 3 ลุ่มน้ำหลักๆ ได้แก่ ลุ่มน้ำบางปะกง  ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำโตนเลสาบ ที่ติดกับประเทศกัมพูชา โดยจะมีการศึกษาและประเมินความต้องการว่ามีการใช้น้ำอย่างไร รวมทั้งมีการใช้น้ำในแต่ละด้านเท่าไร พร้อมกับกำกับพัฒนาแหล่งน้ำว่าเพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วนหรือไม่ หากไม่เพียงพอ ทางกรมชลประทานจะดำเนินการเตรียมแหล่งน้ำเพิ่มเติมหรือจัดหาน้ำเพิ่มเติม

                “ประกอบกับภาคตะวันออกมีพื้นที่ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECเป็นพื้นที่ที่เน้นการส่งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ให้เพียงพอกับโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงต้องมีการคาดการณ์ว่าในพื้นที่ EEC มีความต้องการใช้น้ำเท่าไร ต้องเก็บปริมาณน้ำมากเท่าไร ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 2,500ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่มีความต้องการใช้น้ำอยู่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ” พี่เฉา เล่าให้ฟังไว้ตอนหนึ่ง

                นอกจากนี้ ได้มีการประเมินในปี 2580 ในพื้นที่มีความต้องการใช้น้ำเท่าไร ถ้าหากน้ำไม่เพียงพอจะมีการจัดหาน้ำอย่างไร ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำต่างๆ เช่น อ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทรอ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ เพื่อเพิ่มความจุในการกักเก็บน้ำในแต่ละอ่างให้มากขึ้น

                อีกทั้งได้บริหารจัดการแหล่งน้ำในรูปแบบอ่างฯ พวง หรือโครงข่ายอ่างเก็บน้ำ กล่าวคือ เป็นการจัดสรรน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก มาช่วยในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย เป็นการผันน้ำจากอ่างฯที่มีศักยภาพดีกว่า  มาช่วยเหลืออ่างฯ ที่มีศักยภาพน้อยกว่าเช่น อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยองซึ่งมีปริมาณน้ำมาก ทำให้น้ำไหลลงทะเลโดยธรรมชาติในทุกๆ ปี เลยผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ไปสู่อ่างเก็บน้ำที่มีความต้องการใช้น้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล  เช่นเดียวกับจังหวัดชลบุรีก็มีการบริหารจัดการน้ำในกรณีที่ขาดแคลนน้ำ อาทิ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง ไปอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จังหวัดชลบุรี เป็นต้น ทั้งนี้การดำเนินการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เพียงพอ จะมุ่งเน้นด้านการอุปโภค – บริโภคเป็นสำคัญ

                ซึ่งแผนพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการ EEC นั้น กรมชลประทานได้มีการดำเนินโครงการกักเก็บน้ำที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นรวมถึงการสร้างแหล่งน้ำเพิ่มเติม เช่น จังหวัดชลบุรีได้มีการส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำให้อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทรเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม เช่น อ่างเก็บน้ำคลองประแกดอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่จังหวัดจันทบุรี ที่จังหวัดฉะเชิงเทราได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน และอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง

ขณะที่ จังหวัดระยองได้มีการหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยปัจจุบันได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ เพื่อช่วยสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้กว่า 30,000 ไร่ รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลากในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง และเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หากดำเนินการก่อสร้างอ่างฯแล้วเสร็จ จะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนงานในปี 2569โดยพี่เฉาได้กล่าวสรุปถึงเป้าประสงค์ในการพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออกให้เข้มแข็งเอาไว้ว่า

                “ปัจจุบันกรมชลประทานมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อรองรับกับการเติบโตในมิติต่างๆ เช่น ในด้านการเกษตร สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว โดยมีการคาดการณ์ถึงความต้องการใช้น้ำในแต่ละด้านและทางกรมชลประทานมีการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้กักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ ใน 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าก็ต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนี้ทางกรมชลประทานจะมีการประชาสัมพันธ์ และให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนร่วมกัน”

จากการพัฒนาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่ EEC วิสัยทัศน์และแนวคิดคือสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง โดยเรื่องนี้ พี่เฉา เผยว่า หัวใจสำคัญของการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคือการตั้งใจทำงาน ศึกษาหาความรู้ให้ตัวเองสม่ำเสมอ รวมไปถึงหาเทคนิคใหม่ๆ เพื่อเสริมศักยภาพในการทำงาน ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านช่าง รวมถึงเข้าร่วมอบรมฝึกงานสัมมนาต่างๆ เป็นการเปิดวิสัยทัศน์ใหม่ๆ เปิดการรับรู้เทคโนโลยีใหม่เพื่อนำมาพัฒนางานของตนเอง สร้างทีมงานที่เข็มแข็ง สร้างความรัก ความสามัคคี ทั้งภายในและภายนอกองค์กร

และจากที่ตัวเองได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 ที่ต้องรับผิดชอบงานชลประทานในพื้นที่ 8 จังหวัด ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีลักษณะที่แตกต่างกัน มีความต้องการใช้น้ำที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ตนจึงมีการศึกษานโยบายของรัฐบาลให้ถ่องแท้ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนความมั่นคง และนโยบายระดับกระทรวง ตลอดจนแผนงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ต้องเข้าใจและเข้าถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนว่าประชาชนประกอบอาชีพอะไร มีความต้องการใช้น้ำเพื่อทำอะไร เพราะแต่ละภาคส่วนมีความต้องการใช้น้ำที่แตกต่างกัน เช่น ประชาชนบางพื้นที่ทำนา ทำสวนผลไม้ จะมีความต้องการน้ำจืด ขณะที่บางแห่งประชาชน ทำบ่อปลา บ่อกุ้ง จะต้องการน้ำกร่อย ทั้งหมดนี้ต้องมีการพูดคุยและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนพัฒนาแหล่งน้ำให้ครบทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

 

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...