ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
เผยผลการบริหารจัดการน้ำ ทำประปาดื่มได้ตามมาตรฐาน SDGs 38%
23 พ.ค. 2566

“ทิพานัน” เผยรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 2561-2565 ทำแล้วประปาดื่มได้ตามมาตรฐานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs 38% ไทยจัดการน้ำและสุขาภิบาลสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (SDG6) เต็ม100% เข้าถึงน้ำดื่มพื้นฐาน 99%

วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 ต่อแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้าทั้งระบบและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ซึ่งเป็นการติดตามความก้าวหน้า 3 ด้าน คือ (1) การดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) (แผนแม่บทฯ น้ำ) ช่วงปี 2561-2565 (2) การประเมินแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 19 การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ และ (3) การประเมินตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) : การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
 
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ ช่วงปี พ.ศ. 2561-2565  ตามตัวชี้วัด 6 ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค มีการก่อสร้างระบบประปา 256 หมู่บ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปา 5,005 หมู่บ้าน มีการปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้านให้ได้มาตรฐาน (SDGs) ที่ผ่านมาตรฐานประปาดื่มได้ เฉลี่ยร้อยละ 38.48
ด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต มีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ/อาคารบังคับน้ำ/ระบบส่งน้ำใหม่ (เพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม) ในพื้นที่ชลประทาน จำนวน 1,420 แห่ง ปริมาณน้ำ 601.51 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่รับประโยชน์ 1,189,954 ไร่
ด้านที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ มีการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ 201 แห่ง ปรับปรุงลำน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขิน 115 แห่งระยะทาง 181 กิโลเมตร
ด้านที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดและควบคุมการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยก่อสร้างใหม่ 18 ระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพระบบเดิม 1 แห่ง ทำให้ปริมาณน้ำเสียที่รับการบำบัดได้ตามมาตรฐาน เฉลี่ยร้อยละ 15
ด้านที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน ในเขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวนแห่งชาติมีการดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม 179,909 ไร่ และป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 118,608 ไร่
ด้านที่ 6 การบริหารจัดการ ใช้ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ เช่น (1) จัดทำปรับปรุงกฎหมายและองค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีการตามและออกกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 แล้วเสร็จ รวม 25 ฉบับ (2) จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทฯ น้ำ (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566-2580) เพื่อประกาศใช้ใหม่ และ (3) ติดตามและประเมินผล โดย สทนช.
 
“สำหรับผลการประเมินตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) : การจัดการน้ำและสุขาภิบาลพบว่า ประเทศไทยมีการดำเนินงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก โดยมีสัดส่วนประชากรที่ใช้บริการน้ำดื่มปลอดภัย/บริการน้ำดื่มขั้นพื้นฐานร้อยละ 100 เข้าถึงน้ำดื่มพื้นฐาน และประชากรเข้าถึงการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานร้อยละ 99 ส่วนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการใกล้เคียงค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ร้อยละ 54 โดยไทยได้ดำเนินการได้ร้อยละ 53 (ปานกลาง-สูง)” น.ส.ทิพานัน กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...