ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง พบปะกับผู้แทนต่างชาติที่มาร่วมการประชุมความมั่นคงประเทศกลุ่มบริกส์ครั้งที่ 7 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
1.สำนักข่าวซินหวารายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ค.60 ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบปะกับผู้นำด้านความมั่นคงจากรัสเซีย แอฟริกาใต้ อินเดียและบราซิลที่เดินทางมาร่วมการประชุมว่าด้วยความมั่นคงประเทศกลุ่มบริกส์ที่มหาศาลาประชาชน ณ กรุงปักกิ่ง โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แสดงความยินดีต่อการที่ที่ประชุมดังกล่าวจัดขึ้นด้วยความสำเร็จ และชื่นชมความรับรู้ที่ได้บรรลุไว้ เขากล่าวอีกว่า ความร่วมมือของประเทศบริกส์ ไม่เพียงได้พิทักษ์และขยายผลประโยชน์ของ ๕ ประเทศเท่านั้น หากยังเป็นการสำรวจแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่อีกด้วย
2.การประชุมผู้แทนระดับสูงด้านกิจการความมั่นคงของประเทศกลุ่มบริกส์ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 ก.ค.60 โดยมี นายหยาง เจี๋ยฉือ มนตรีแห่งรัฐของจีน เป็นประธาน นายเดวิด มาห์โลโบ (David Mahlobo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแอฟริกาใต้ นายเซอร์จิโก เอทเชโกเยน (Sergio Etchegoyen) เลขาธิการสถาบันความมั่นคงบราซิล นายนิโคลัย ปาตรูเชฟ (Nikolai Patrushev) เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซีย และนายอาจิต โดวาล (Mr. Ajit Doval) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของอินเดีย เข้าร่วมประชุม โดยทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหาร การต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ตและพลังงาน ปัญหาสำคัญส่วนภูมิภาคและระหว่างประเทศ และความมั่นคงและการพัฒนาของประเทศ เป็นต้น พร้อมบรรลุข้อตกลงอย่างกว้างขวาง
3. ข้อสังเกต กลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วยประเทศ บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) โดย นายจิม โอนีลล์ (Mr. Jim O’Neil) หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจโลกจากโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ได้บัญญัติคําว่า BRIC มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการ ย้ายอํานาจเศรษฐกิจโลกจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง G7มาสู่กลุ่มประเทศกําลังพัฒนา โดยที่ประเทศทั้งสี่ข้างต้นมีพื้นที่รวมกันมากกว่าหนึ่งในสี่ของโลกและมีจํานวนประชากรรวมกันมากกว่าร้อยละ ๔๐ ของประชากรโลก มีสัดส่วนใน GDP โลกประมาณหนึ่งในสี่ของทั้งหมด ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๓ ประเทศแอฟริกาใต้ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRIC จึงได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มใหม่เป็น BRICS ซึ่งอักษรย่อ “S” ที่เพิ่มต่อท้ายเข้ามาหมายถึง ประเทศแอฟริกาใต้ (South Africa) นอกจากความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแล้ว กลุ่ม BRICS ยังได้พัฒนาไปสู่การเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการเมืองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมถึงความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ อีก ได้แก่ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน เนื่องจากสมาชิก BRICS เป็นประเทศที่ผลิตและใช้พลังงานมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดและเป็นผู้บริโภคผลผลิตทางการเกษตรมากที่สุด การพัฒนาการใช้พลังงานสะอาด การเพิ่มผลผลิตการเกษตร เป็นต้น และยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นอีก อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การค้าการลงทุน ยา และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
บทสรุป จีนได้ใช้เวทีการประชุมความมั่นคงประเทศกลุ่มบริกส์ครั้งที่ 7 ในการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในกลุ่มบริกส์ อันสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกและความปรารถนาของประชาคมโลก โดยหวังว่าประเทศภาคีจะเพิ่มความเชื่อมั่นทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง รักษาความยุติธรรมระหว่างประเทศ และการประชุมดังกล่าวถือเป็นเวทีหลักของกลุ่มประเทศบริกส์ เพื่อหารือและดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงทางการเมือง โดยเฉพาะการเพิ่มการติดต่อทางยุทธศาสตร์ อันเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือทางการเมือง และเพิ่มอิทธิพลในกิจการระหว่างประเทศ โดยฝ่ายต่างๆ ตกลงกันว่า การประชุมครั้งนี้จะหารือเกี่ยวกับการบริหารโลก การต่อต้านการก่อการร้าย ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ความปลอดภัยด้านพลังงาน ประเด็นร้อนระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ตลอดจนความมั่นคงและการพัฒนาของชาติ เป็นต้น ซึ่งจีนยินดีที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย และจีนได้เตรียมการสำหรับการประชุมผู้นำประเทศกลุ่มบริกส์ครั้งที่ 9 ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนปีนี้ ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ต่อไป
ประมวลโดย : พันเอก ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล KU.40
(ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสถานีวิทยุ CRI ของจีน ใน http://thai.cri.cn/247/2017/07/29/64s256322.htm รวมทั้ง เว็บไซต์ http://thai.cri.cn/247/2017/07/29/234s256319.htm และเว็บไซต์ http://thai.cri.cn/247/2017/07/28/64s256295.htm ตลอดจนเว็บไซต์ http://thai.cri.cn/247/2017/07/25/101s256190.htm และข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ในเว็บไซต์ https://th.wikipedia.org/wiki/BRICS รวมถึงข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศใน http://sameaf.mfa.go.th/th/organization/detail.php?ID=4109)