สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสัมมนา "การกระจายอำนาจกับการปฏิรูปกิจการตำรวจ : บทเรียนและประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น" โดยมีมิสเตอร์เคสุกะ โฮซากะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย / ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล สถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ร่วมนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิรูปกิจการตำรวจไทย
โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว่า เรื่องการปฏิรูปตำรวจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เคยทำกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งก็หวังว่าการดำเนินการในครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์
ด้านมิสเตอร์เคสุกะ โฮซากะ ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจประจำสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้พูดถึงการปฏิรูปตำรวจของญี่ปุ่นว่า ขณะนี้ญี่ปุ่นมีตำรวจประมาณ 2 แสน 9 หมื่นนาย และที่ญี่ปุ่นมีตำรวจชุมชน ตำรวจภูธรจังหวัด ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไม่มีสิทธิ์มาก้าวก่ายการทำงานของตำรวจภูธรจังหวัด เพียงแต่มีหน้าที่ร่างกฎหมายและการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ และจะไม่มีสำนักงานสอบสวนที่ขึ้นตรงอย่างประเทศไทย และแม้สำนักงานตำรวจญี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ฝ่ายการเมืองก็ไม่สามารถสั่งการได้ ซึ่งด้วยระบบแบบนี้จะทำให้ตำรวจมีความเป็นกลางและเป็นอิสระจากการเมือง พร้อมกับกล่าวว่า ตำรวจญี่ปุ่นมีการพัฒนาความร่วมมือกับชุมชนต่างๆ และมีการประสานงานกับอาสาสมัครเพื่อป้องกันเหตุต่างๆ โดยไม่ว่าจะเป็นคดีเล็กหรือคดีใหญ่จะยึดหลักการทำงานที่รวดเร็วในการติดตามตรวจสอบ และหากพูดถึงการโยกย้ายจะไม่ค่อยมี โดยจะทำงานเป็นตำรวจจังหวัดนั้นๆจนเกษียณ
ส่วนการสอบสวนและสืบสวนนั้น ทางญี่ปุ่นไม่ได้แยกออกจากกัน แต่จะทำงานร่วมกันไป และจะทำเรื่องส่งไปยังอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป และการสืบสวนจะแยกจากอัยการอย่างสิ้นเชิง จากนั้นอัยการจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ โดยการทำคดีตำรวจภูธรในแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการ สำหรับชั้นยศตำแหน่งนั้นจะมีการกำหนดจำนวนเอาไว้ โดยมีตั้งแต่ระดับผู้บังคับบัญชา รองผู้บังคับบัญชา จะไม่ได้แบ่งชั้นตำรวจเป็นระดับอย่างทหารหรืออย่างของประเทศไทย
ขณะที่พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า โครงสร้างของตำรวจญี่ปุ่นมีความใกล้เคียงกับตำรวจไทย แต่จะต่างกันตรงที่การโยกย้าย ซึ่งตนเห็นว่าญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับประชาชนมากกว่าของไทย อีกทั้งเรื่องของการโยกย้ายที่ของไทยขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น ตนมองว่าไม่เป็นธรรม อีกทั้งในเรื่องงบประมาณของตำรวจไทยยังไม่มีการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆอย่างเพียงพอ
อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยยังมีหน่วยงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน ปราบปรามที่มาขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวนมาก เช่น ตำรวจป่าไม้ ทั้งที่เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ส่วนเรื่องการสอบสวนของไทยก็ยังมีปัญหา เพราะบุคลากรย้ายออกจำนวนมาก อีกทั้งยังถูกแทรกแซงในการทำงาน
จากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงศ์ พูตระกูล สถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้พูดถึงที่มาตำรวจไทยว่า มีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ด้วยการนำรูปแบบมาจากอังกฤษ ด้วยนโยบายรักษาความสงบเรียบร้อยมากกว่าการสืบสวน แต่ในปัจจุบันนี้อาชญากรรมทางไซเบอร์มีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการปฎิรูปตำรวจจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วย โดยที่ผ่านมาตำรวจมักถูกแทรกแซงจากการเมือง เนื่องจากตามข้อของกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในคณะกรรมการของตำรวจ ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆที่มีการคานอำนาจระหว่างกันของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค พร้อมกับเสนอว่าการทำงานของตำรวจไทยควรมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่านี้ เช่นการสแกนหน้าของคนร้าย การสแกนลายนิ้วมือแบบอัตโนมัติ และที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับภาคประชาชนที่ตำรวจควรจะทำงานร่วมด้วย