นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักมาก ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 12/2566 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก จากการติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศไทย ทำให้ฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2566 ดังนี้
ภาคเหนือ จังหวัดตาก และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
โดยกรมชลประทาน จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตาม ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงการเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก ความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนเพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460