กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะเทคนิคการใช้สายตาขณะขับรถอย่างถูกวิธี โดยหมั่นมองเส้นทางให้รอบด้าน พยายามมองเส้นทางในระยะไกล ไม่มองเส้นทางเฉพาะในระยะใกล้ ไม่เพ่งมองจุดใดจุดหนึ่งเป็นเวลานาน กะระยะสายตาทางลึกให้ชัดเจน สวมแว่นตากันแดดเมื่อขับรถในช่วงที่แสงแดดแรงจัด ไม่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรจอดรถพักทุกๆ 2 ชั่วโมง กรณีผู้ขับขี่สายตาพร่ามัวจากแสงสะท้อนเข้าตา ให้เลี่ยง ไปมองบริเวณอื่นชั่วขณะ โดยยึดเส้นขอบถนนเป็นแนวในการขับรถ ไม่ประกอบกิจกรรมที่ต้องละสายตาจากเส้นทาง ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตา และผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตนเอง รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถช่วงเวลากลางคืน เส้นทางเข้าและออกอุโมงค์ทางลอด การเปลี่ยนช่องทาง ขับแซง หรือเลี้ยวรถ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า การใช้สายตามองเส้นทาง ถือเป็นสิ่งสำคัญในการขับรถ หากผู้ขับขี่ขาดความเข้าใจในการใช้สายตา จะส่งผลต่อทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะเทคนิคการใช้สายตาขณะขับรถอย่างถูกวิธี ดังนี้ การใช้สายตาขณะขับรถ หมั่นมองเส้นทางให้รอบด้าน ทั้งด้านหน้า ด้านท้าย ด้านซ้าย และด้านขวา จะช่วยให้มองให้มองเห็นภายนอกรถได้รอบทิศทาง รวมถึงสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าจากลักษณะการขับขี่ และทิศทางของรถคันอื่นได้อย่างแม่นยำ พยายามมองเส้นทางในระยะไกล โดยกวาดสายตามองให้รอบด้าน เริ่มจากจุดที่อยู่ไกลที่สุด จากนั้นจึงลดระดับลงมามองเส้นทางในระยะกลาง และระยะใกล้สุดตามลำดับ หากเกิดเหตุฉุกเฉินบนเส้นทางจะได้มีเวลาแก้ไขสถานการณ์และหยุดรถทัน ไม่มองเส้นทางเฉพาะในระยะใกล้โดยเฉพาะ ผู้ที่หัดขับรถมักมองเฉพาะด้านหน้า และเส้นแบ่งช่องจราจร เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จึงหยุดรถไม่ทัน ไม่เพ่งตามองจุดใดจุดหนึ่ง เป็นเวลานาน เพราะทำให้สายตาอ่อนล้า พร่ามัว และมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน กะระยะสายตาทางลึกให้ชัดเจน จะช่วยให้ การขับรถแซงและการขับรถถอยหลังเป็นไปอย่างปลอดภัย เนื่องจากผู้ขับขี่สามารถกะระยะห่าง รวมถึงสิ่งกีดขวางที่อยู่ด้านหลังรถได้อย่างเหมาะสม ข้อแนะนำในการใช้สายตาขณะขับรถให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สวมแว่นตากันแดดเมื่อขับรถในช่วง ที่แสงแดดแรงจัด เนื่องจากแว่นตากันแดดจะทำหน้าที่กรองแสง จึงช่วยป้องกันตาพร่ามัวพักสายตาโดยจอดรถพักเป็นระยะ ไม่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะทำให้สายตาอ่อนล้า ควรจอดรถพักทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกระยะ 150 – 200 กิโลเมตร ในบริเวณที่ปลอดภัย เพื่อพักสายตา จะช่วยลดอาการอ่อนล้าที่ทำให้หลับในขณะขับรถ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ กรณีผู้ขับขี่ ตาพร่ามัวจากแสงสะท้อนเข้าตา ให้เลี่ยงไปมองบริเวณอื่นชั่วขณะ โดยยึดเส้นขอบถนนเป็นแนวขับรถ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ข้อควรระวังในการใช้สายตาขณะขับรถไม่ประกอบกิจกรรมที่ต้องละสายตาจากเส้นทาง เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถหยุดรถได้ทัน ผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาและผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการชับรถด้วยตนเอง โดยเฉพาะเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เช่น ฝนตกหนัก หมอกลงจัด เป็นต้น และในช่วงกลางคืน ช่วงโพล้เพล้ ใกล้รุ่ง เพราะไม่สามารถ ปรับสภาพสายตาให้มองเห็นเส้นทางในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดีได้อย่างชัดเจน จึงส่งผลต่อการกะระยะทาง และระยะห่างจากรถคันอื่น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพิ่มความระมัดระวังขณะขับรถเข้าและออกจากอุโมงค์หรือทางลอด เนื่องจากการขับรถจากที่มืดออกสู่ที่สว่างสายตาต้องใช้เวลาในการปรับแสงประมาณ 3 วินาที จึงสามารถมองเห็นเส้นทางได้อย่างชัดเจน ขณะที่การขับรถจากที่สว่างเข้าสู่ที่มืดใช้เวลาประมาณ 6 วินาที แม้จะเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพิ่มความระมัดระวัง ในการขับรถเวลากลางคืน เพราะความมืดทำให้ผู้ขับขี่มีขอบเขตในการมองเห็นเส้นทางจำกัด หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถ หยุดรถได้ทัน อีกทั้งช่วงกลางคืนยังมีแสงไฟส่องสว่าง ทั้งจากเสาไฟ อาคารบ้านเรือน ป้ายโฆษณา และรถคันอื่นส่องเข้าตาผู้ขับขี่ ทำให้ตาพร่ามัว จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ เพิ่มความระมัดระวังในการเปลี่ยนช่องทาง ขับแซง หรือเลี้ยวรถ โดยมองกระจกหลัง และกระจกข้างทั้งด้านซ้ายและด้านขวาสลับไปมาให้รอบด้าน จนมั่นใจว่าไม่มีรถ จึงค่อยเปลี่ยนช่องทาง ขับแซง หรือเลี้ยวรถ ทั้งนี้ การใช้สายตาขณะขับรถอย่างถูกวิธี จะช่วยให้การกะระยะห่าง การขับแซง และการหยุดรถ มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง