นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานลงนามความร่วมมือโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ระหว่างกรมอนามัย และ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่า จากรายงาน Biennial update report ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศในประเทศไทย ร้อยละ 70 มาจากภาคพลังงานและภาคขนส่ง โดยเฉพาะ PM2.5 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ พร้อมสนับสนุนการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งนโยบายรถไฟฟ้า (EV : Electric Vehicle) ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญของประเทศในภาคพลังงานและขนส่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
“ทั้งนี้ เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบการประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด จัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกให้บุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ได้ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ลดการปล่อยมลพิษ ขับเคลื่อนการเป็นองค์กรต้นแบบลดมลพิษ สร้างประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยในอนาคต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวว่า กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ได้มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจ “Green Product” โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาด มากกว่า 15 ปี ทั้งด้านพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน และปัจจุบัน EA ซึ่งเป็นบริษัทไทยบริษัทแรกที่มีการเริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าด้วยฝีมือคนไทย ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสถานีชาร์จ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจุบัน EA เป็นผู้นำด้านการให้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ EA Anywhere มากกว่า 5 ปี เปิดให้บริการแล้วกว่า 490 สถานี รวม 2,460 หัวชาร์จ ทั้งสถานีระบบ Normal Charge และ EA ได้คิดค้นนวัตกรรมการชาร์จที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลาเพียง 15 - 20 นาที ด้วยเทคโนโลยี Ultra-Fast Charge เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ ในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV ECOSYSTEM) ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าระดับสากล
“ดังนั้น โครงการดังกล่าว จึงถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ที่ EA และ กรมอนามัย หน่วยงานราชการที่มีเจตนารมย์เดียวกันกับบริษัทฯ ในการร่วมเดินหน้าส่งเสริมสถานีชาร์จสําหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าภายในพื้นที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานสะอาด ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 ให้กับชุมชนและสังคม สร้างสุขภาพอนามัยที่ดีต่อทุกคน ทั้งยังส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อันจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้เร็วยิ่งขึ้น สนับสนุนขับเคลื่อนให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพสิ่งแวดล้อมไทยที่ยั่งยืน” นายสมโภชน์ อาหุนัย กล่าวในตอนท้าย