ดร.บรรจง จำปา รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) เปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการพัฒนาจากการประเมินตนเองขั้นพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ที่จัดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การเรียนรู้ระดับเขต นครชัยบุรินทร์ จังหวัดนครราชสีมา
ดร.บรรจง กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการพัฒนาจากการประเมินตนเองขั้นพัฒนา มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ และเพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางการประเมินรับรองการพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ รวมทั้งการสร้างต้นแบบการเรียนรู้ ในรูปแบบที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลประเมินตนเอง และการประเมินกันเองร่วมกับพี่เลี้ยง โดยมีกลไกการประเมินการพัฒนากระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่อง ในภาคเช้าสรพ.ได้ร่วมลงพื้นที่นำร่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าลาดขาว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทดลองรูปแบบการตามรอยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ และได้รับเกียรติจาก นพ.เกรียงศักดิ์ ครุธกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลโชคชัย และนายสุทัศน์ โทแหล่ง สาธารณสุขอำเภอโชคชัย ให้การต้อนรับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่าลาดขาว จังหวัดนครราชสีมา เป็น รพ.สต.ที่มีผู้นำที่มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนา และสามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี พร้อมกับการเรียนรู้และพัฒนาการประเมินตนเองขั้น ด้วยรูปแบบตามมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ
ภาคบ่ายเป็นกิจกรรมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการพัฒนาจากการประเมินตนเองขั้นพัฒนามาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดการสัมมนา และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป้าหมายที่สมัครใจเข้าร่วม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.ท่าลาดขาว รพ.สต.ดงพลอง รพ.สต.ห้วยแย้ รพ.สต.คูขาด รพ.สต.หนองแจ้งใหญ่ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวมทั้งทีมพี่เลี้ยงคุณภาพ ที่ปรึกษากระบวนการคุณภาพและบุคลากรแกนนำศูนย์การเรียนรู้ฯ เข้าร่วมเรียนรู้และแลกเปลี่ยน โดยมี นพ.ทรนง พิลาลัย หัวหน้ากลุ่มภารกิจพัฒนาองค์กรและนวัตกรรม เป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนในประเด็นผลการพัฒนาจากการประเมินตนเอง ขั้นพัฒนา โดยใช้หลักคิด “รู้เรื่องเรา เข้าใจหลัก รักประชาชน” เริ่มต้นด้วยการเข้าใจบริบทตนเอง รับฟังเสียงประชาชน มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อความความหวังที่สำคัญของประชาชนและใช้แนวคิดการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการยกระดับและพัฒนาคุณภาพด้านการสาธารณสุขมูลฐานและการบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ อีกทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับฟังความคิดเห็นต่อการใช้มาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ในการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมต่อไป