สสว. จัดงานแถลงความสำเร็จโครงการระบบวินิจฉัย 360 องศา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบของภาครัฐ (SME Formalization) เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท โดยร่วมกับ ม.อ. และ มศก. วินิจฉัยธุรกิจรอบด้านให้เอสเอ็มอีไทยจำนวน 1,041 ราย เพื่อยกระดับพัฒนาศักยภาพ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจ และผลักดันเข้าสู่ระบบการพัฒนายกระดับธุรกิจอย่างครบวงจรของภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานของคนรุ่นใหม่ การถูกเลิกจ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายประการให้แก่โครงสร้างสังคม พฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถแข่งขันหรืออยู่รอดได้หากยังยึดติดกับธุรกิจ รูปแบบเดิม และสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก มีความหลากหลายของช่วงอายุ ทั้งแบบเริ่มต้นธุรกิจแบบตั้งใจอยากเป็นเจ้าของกิจการเพราะไม่ต้องการเป็นมนุษย์เงินเดือน และการเริ่มต้นธุรกิจแบบมีความจำเป็น จากการตกงาน ขาดความแน่นอนในหน้าที่การงาน ทั้งนี้ยังขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และขาดที่ปรึกษาในการแนะนำแนวทางในการวางแผนธุรกิจ จึงทำให้หลายธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ต้องล้มเลิกกิจการไป
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า สสว. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ มหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินงานโครงการระบบวินิจฉัย 360 องศา เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบของภาครัฐ (SME Formalization) เพื่อพัฒนากลไกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นธุรกิจ โดยปรับกระบวนการดำเนินงานให้สอดรับกับการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤติโควิด-19 ด้วยรูปแบบออนไลน์ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ สามารถนัดหมายเวลาผ่านระบบออนไลน์ที่ www.sme360d.com เพื่อรับคำวินิจฉัยผู้ประกอบการแบบ 360 องศา ผ่านระบบ Zoom Conferencing ทำให้ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ นอกจากนี้แล้วผู้รับบริการยังจะได้รับโอกาสในการเชื่อมโยงในบริการของสถาบันการเงิน หรือสิทธิประโยชน์จากโครงการอื่นๆ หรือการสนับสนุนต่าง ๆ มากมายจากหน่วยภาครัฐ ที่ผนึกกำลังกันเพื่อร่วมกันยกระดับและพัฒนา SME ไทยให้เข้มแข็ง
ผอ.สสว. เผยว่า การดำเนินโครงการ มีผู้ประกอบการ 1,041 ราย จากทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการได้ผ่านการวินิจฉัยธุรกิจครบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์/บริการ การบริหารจัดการ การกระบวนการผลิต/บริการ ด้านบัญชีและการเงิน การยื่นขอมาตรฐาน และการเกษตร เป็นต้น และได้รับคำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มากประสบการณ์ ซึ่งจากการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และขยายกิจการให้เข้มแข็งได้ต่อไป
นายธีวินท์ นฤนาท หัวหน้าโครงการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การดำเนินงานมุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ โดยการนัดหมายรับคำวินิจฉัยและคำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ซึ่งสามารถ เข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ โดยมี คุณเอกสิทธิ์ โกมลกิตติพงศ์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปผ้าข้าวม้า แบรนด์อิมปานิ และคุณเอนก ปิ่นวนิชย์กุล ผลิตภัณฑ์นม โยเกิร์ต เครื่องดื่มออร์แกนิคเพื่อสุขภาพ แบรนด์ บัตเตอร์ฟลาย ผู้ประกอบการร่วมนำเสนอความสำเร็จจากโครงการซึ่งมุ่งพัฒนาด้านการตลาดในรายแรก และการผลักดันการขอรับรองมาตรฐาน Halal ในรายที่ 2 จนได้รับการรับรองภายในระยะเวลาการดำเนินโครงการ ทั้งนี้คาดการณ์มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นของทั้งสองรายรวมกันอยู่ที่ 2.76 ล้านบาทต่อปี
นายวรกิตติ์ แซ่จิ้ว ที่ปรึกษาธุรกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า จากการที่ได้วินิจฉัยธุรกิจและให้คำปรึกษาธุรกิจในด้านต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ด้าน พบว่าผู้ประกอบการได้รับการยกระดับด้านการตลาดมากที่สุด คิดเป็น 97.5% ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด เป็นการมุ่งเน้นการแนะนำในการส่งเสริมด้านการตลาดผ่านการกำหนดราคาที่ถูกต้อง การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์และออฟไลน์ การจัดโปรโมชั่นสินค้าตลอดจนการเก็บข้อมูลลูกค้าเบื้องต้น โดยมีผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ คุณนพร วัฒนขจีกุล ผลิตภัณฑ์ขนมข้าวอบกรอบ แบรนด์ BeBe Brights และคุณอัมภานุช บุพไชย ผลิตภัณฑ์เผือกตะแกรง แบรนด์ขนมทันจิตต์ จากการเข้าร่วมโครงการ ทำให้เห็นผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์และคาดการณ์ มูลเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นของทั้งสองรายรวมกันอยู่ที่ 2.78 ล้านบาทต่อปี