ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
กรมการจัดหางาน รุกหนักกวาดล้างต่างชาติแย่งงานคนไทย ตรวจสอบทั่วประเทศแล้วกว่า 5 แสนคน
27 ก.ย. 2566

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อมวลชนตีแผ่ความทุกข์ใจของแม่ค้าชาวไทย ที่พบคนต่างชาติเปิดแผงค้าขายในตลาด เข็นรถขายน้ำผลไม้ ขับขี่จักรยานยนต์พ่วงข้างขายอาหาร หรือเข้ามาค้าขายเปิดกิจการย่านการค้าสำคัญในประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนคล้ายแย่งอาชีพคนไทย นั้น กรมการจัดหางานขอยืนยันว่าตลอดปีที่ผ่านมากรมฯไม่เคยนิ่งนอนใจ สั่งการเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่กวาดล้างแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย และแรงงานต่างชาติที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจในพื้นที่ และกรมการปกครอง โดยมีทั้งการสุ่มตรวจในพื้นที่ย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ย่านเยาวราช ห้วยขวาง แยกราชประสงค์ ตลาดหทัยมิตร ถนนจันทร์ และจังหวัดที่พบคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ จังหวัดนนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี นครปฐม และระนอง รวมทั้งในพื้นที่ที่มีการแจ้งเบาะแสร้องทุกข์โดยประชาชน หรือสื่อมวลชน ทำให้ปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 25 กันยายน 2566) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการทั่วประเทศที่จ้างแรงงานต่างชาติแล้ว จำนวน 53,732 แห่ง ดำเนินคดี 1,587 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติแล้ว จำนวน 528,683 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 3,464 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 1,850 คน กัมพูชา 636 คน ลาว 562 คน เวียดนาม 145 คน และสัญชาติอื่น ๆ 271 คน ซึ่งพบเป็นความผิดแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 1,634 คน โดยจังหวัดที่พบนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างชาติกระทำผิดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. สมุทรสาคร 3. นครปฐม 4. ชลบุรี และ5.นนทบุรี และอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพคนไทยมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ งานนวด และมัคคุเทศก์ตามลำดับ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและเพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้างในประเทศไทย พร้อมกับควบคุมให้มีจำนวนแรงงานต่างชาติเท่าที่จำเป็น และอนุญาตให้ทำเฉพาะงานที่คนไทยไม่ทำ เพื่อมิให้กระทบต่อโอกาสในการมีงานทำหรือรายได้ของคนไทย โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) ซึ่งหากคนต่างด้าวฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี

“การลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์แนวทางขออนุญาตทำงานตามกฎหมายประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดลดลง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแรงงานภายในประเทศ เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สอดรับนโยบายสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงานของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” อธิบดีกรมการจัดหางงาน กล่าว

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...