ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
สส.ศักดิ์ดา หวัง พท.ปัดฝุ่นโครงการฟลัดเวย์ ยุคนายกยิ่งลักษณ์ พร้อมเสนอ 3 โครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมยั่งยืน
08 ต.ค. 2566

         วันนี้ 8 ต.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.)เขต 4 กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมนั้นมันเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนสิงหาคม กันยายน และเดือนตุลาคม ของทุกปี โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อถึงปลายเดือนธันวาคม หรือต้นเดือนมกราคม น้ำก็จะท่วมในพื้นที่ทางภาคใต้ ซึ่งการที่น้ำท่วมในพื้นที่เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี

        ดังนั้นจึงทำให้ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณในการเยียวยาดูแลรักษาเกี่ยวกับน้ำท่วมให้กับประชาชนผู้ได้รับผลระทบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ต้นเหตุ จะไม่มีทางเลยที่เราจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้

         ทุกรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมาผมเชื่อว่าเราแก้ไขปัญหากันที่ปลายเหตุ ไม่ใช่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ จากการที่ได้ดูข้อมูลย้อนหลังไปในช่วงปี พ.ศ.2554 เกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร ผมเชื่อว่าประชาชนทุกคนคงจำได้เพราะในปีนั้นเกิดมีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถที่จะรองรับมวลน้ำที่ไหลลงมาจากทางภาคเหนือได้

        สาเหตุนั้นเป็นเพราะน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาในพื้นที่ที่เป็นเขาหัวโล้นที่ไม่มีต้นไม้ไหลบ่าลงมาอย่างรวดเร็ว ดังนั้นถึงแม้ว่าเราจะมีเขื่อนกี่เขื่อนมีอ่างเก็บน้ำกี่แห่งก็ตาม ถ้ามันเต็มแล้วน้ำจะไปไหน ซึ่งสุดท้ายก็ต้องระบายน้ำลงสู่แม่น้ำ 4 สายคือ ปิง วัง ยม น่าน ลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

         ซึ่งต้นน้ำเจ้าพระยานั้นอยู่ที่อำเภอปากน้ำโพธิ์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นสามารถที่จะรองรับน้ำที่ไหลเข้าได้วินาทีละไม่เกิน 3,000 ลบ.ม.แต่ในปี 2554 ปรากฏว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำไหลเข้ามากถึงวินาทีละ 5,000 ลบ.ม.ซึ่งเกินมากว่า 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที

          รัฐบาลในช่วงนั้นคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่จะสร้างโครงการฟลัดเวย์ ซึ่ง 2ข้างทางของแม่น้ำเจ้าพระยาที่เราเรียกว่าฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างละ 1,000 ลบ.ม.เพื่อป้องกันไม่ให้มวลน้ำไหลเข้าท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนน้ำที่เข้าท่วมจะเป็นน้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากโครงการนี้ไม่เกิดขึ้นเพราะเกิดการปฏิวัติเสียก่อน ผมเชื่อว่าหากไม่เกิดการปฏิวัติ โครงการฟลัดเวย์ของนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 

            ซึ่งโครงการฟลัดเวย์ไม่ใช่เป็นโครงการระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ทั้ง 2 ฟากฝั่งของโครงการยังมีถนนที่ใช้เดินทางจากภาคตะวันตกไปยังภาคเหนือ และจากภาคตะวันออกไปยังภาคเหนืออีกด้วย

           โครงการฟลัดเวย์นั้น พรรคเพื่อไทยได้เสนอเป็นนโยบายเอาไว้ในข้อ 8 วรรคสอง ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะสำเร็จได้ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยยุคนี้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของคนภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลได้เป็นอย่างดี

            สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นสาเหตุเป็นเพราะป่าไม้ถูกตัดโค่นทำลายจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้นที่ทุกคนต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้ว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของน้ำท่วมให้ได้ทั้งในระยะยาวและยั่งยืน โดยไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาระยะสั้นในทุกๆปีเหมือนที่ผ่านมา 

           ผมจึงขอเสนอไปถึงรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ได้เร่งดำเนินการใน 3 โครงการสำคัญ โครงการแรกเลยนั้นคือให้ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำ เพราะเวลาฝนตกจะทำให้พื้นที่ที่ไม่มีต้นไม้หรือไมมีสิ่งกีดขวาง จะทำให้น้ำไหลลงมาจากภูเขาหัวโล้นและพัดนำพาเอาตะกอนหน้าดินไหลลงมาอย่างรวดเร็ว ถ้าน้ำพัดพาตะกอนหน้าดินลงมาทุกปีๆจะทำให้ดินนั้นเสื่อมคุณภาพไปด้วย 

         เมื่อถึงเวลาประชาชนจะต้องปลูกพืชหรือทำการเกษตรก็จะทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีไปด้วย และจะทำให้ประชาชนหรือเกษตรกรต้องเสียงบประมาณในการนำไปปรับปรุงดินเป็นจำนวนมหาศาลโดยใช่เหตุ

        แต่ถ้าเราสร้างฝายชะลอน้ำจะทำให้น้ำไหลได้ช้าลง เมื่อน้ำไหลได้ช้าลงน้ำก็จะซึมลงใต้ดินในชั้นน้ำบาดาล ประชาชนจะได้มีโอกาสนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ ดังนั้นจึงเสนอไปถึงรัฐบาลให้สร้างฝายชะลอน้ำในพื้นที่ต้นน้ำให้มากที่สุดเพื่อป้องกันให้น้ำไหลลงสู่ที่ต่ำหรือที่ลาบให้ช้าที่สุด

         โครงการที่สอง คือโครงการปลูกหญ้าแฝก เพราะหญ้าแฝกนั้นจะมีรากฝังลงลึกไปใต้พื้นดินถึง 2-3 เมตร เมื่อรากลงลึกก็จะยึดหน้าดินเอาไว้เมื่อน้ำไหลลงสู่ที่ต่ำการพังทลายของหน้าดินก็จะน้อยลง และสิ่งที่จะตามมาก็คือน้ำจะไหลซึมลงไปตามรากของหญ้าแฝกได้เป็นอย่างดี

         และโครงการสุดท้ายที่ขอเสนอไปถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคือขอให้เร่งฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่เขาหัวโล้น ถ้าเราฟื้นฟูสภาพป่าหรือพื้นที่ใดก็ตามที่เป็นพื้นที่เขาหัวโล้น หากสำเร็จจะทำให้น้ำไหลช้าลงและผืนป่าจะช่วยในการกักเก็บน้ำเอาไว้ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ราบได้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งผืนป่านั้นถือว่ามีคุณค่าสามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้จำนวนมหาศาล 

         จากข้อมูลของคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยสามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 4 หมื่นล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 4 เท่าของเขื่อนภูมิพล หากเราสามารถช่วยกันฟื้นฟูสภาพป่าบนเขาหัวโล้นสำเร็จจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาวและยั่งยืนอย่างแน่นอน”นายศักดิ์ดาฯ กล่าว
   ///////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...