เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 3 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ และรองเลขาธิการ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ ดร.วิรัลพัชร เวธทาวริทธิ์ธร อุปนายกฝ่ายวิชาการ แถลงข่าวการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานไทยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า สภาทนายความจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานไทย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยมีอำนาจหน้าที่ ให้คำปรึกษาหรือแนะนำเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย การจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่าง การแสวงหาข้อเท็จจริง และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพิจารณาหลัก ได้แก่ สิทธิประโยชน์ในกรณีบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต จากการทำงานอย่างถูกกฎหมายในต่างแดน โดยยึดข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลกว่า 20,000 คน จากข้อมูลทราบว่า คนไทยที่เดินทางไปทำงานที่อิสราเอลเกือบทั้งหมดไปอย่างถูกกฎหมาย จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนทำงานในต่างประเทศ ได้แก่ เดินทางกลับประเทศเนื่องจากภาวะสงคราม ได้รับเงินสงเคราะห์ 15,000 บาท กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินสงเคราะห์ 30,000 บาท กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินสงเคราะห์ 40,000 บาท ค่าใช้จ่ายการจัดงานศพในต่างประเทศตามค่าใช้จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล กรณีได้รับบาดเจ็บหรือพิการ ซึ่งมีการแยกเป็นกรณี กรณีบาดเจ็บไม่เกิน 0-10% ไม่ได้รับค่าตอบแทน บาดเจ็บ 10-19% จะได้รับเงินก้อนเดียวประมาณ 1,440,000 บาท บาดเจ็บเกิน 20% จะได้รับเงินเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต โดยประเมินจากความสูญเสีย
สำหรับกรณีการเสียชีวิต ภรรยาและบุตรจะได้รับเงินเดือนทุกเดือนจนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ และบุตรอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ โดยภรรยาจะได้รับเงิน 34,560 บาทต่อเดือน บุตรจะได้รับเงิน 5,760-11,520 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ ทางสภาทนายความได้เห็นความสำคัญในปัญหาเรื่องหนี้สิน เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล อาจต้องกู้เงินจากธนาคาร หรือจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งจะเข้าไปช่วยเจรจากับทางเจ้าหนี้และช่วยเหลือทางคดีหากถูกฟ้องร้อง อีกทั้งสภาทนายความจะประสานกรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 และภาค 4 และหน่วยย่อย รวมถึงประธานสภาทนายความจังหวัดแต่ละจังหวัด ติดตามแหล่งที่อยู่ของแรงงานไทยในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบ เพื่อสำรวจและเข้าไปช่วยเหลือติดตามการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทันที
ทั้งนี้แรงงานไทยหรือครอบครัวสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ที่ สภาทนายความส่วนกลาง และสภาทนายความจังหวัดทุกเขตศาลจังหวัดทั่วประเทศ หรือประสานงานโดยตรงได้ที่ ประธานสภาทนายความจังหวัดทุกศาลจังหวัด และสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนปรึกษากฎหมาย 1167 มีทนายความที่มีความเชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายในทุกกรณี