กรมวิชาการเกษตร จับมือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง รุกสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรผลิตข้าวโพด ป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปีนี้ต้องการมากถึง 8.37 ล้านตัน ขณะ กาแฟ อโวคาโดราคาดี
นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงปางหินฝน ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยได้ประชุมร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด และกาแฟอะราบิกา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น สภาพปัญหาการผลิต ข้าวโพดและกาแฟของเกษตรกร เพื่อทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ร่วมกันหาแนวทางส่งเสริมการพัฒนาและต่อยอด เสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการผลิตข้าวโพดและกาแฟเพิ่มเติมบนพื้นที่สูง
โดยมีคณะทำงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่แปลงปลูกข้าวโพดและแปลงทดสอบการปลูกกาแฟ รวมทั้งแปลงผลิตอะโวกาโด (พันธุ์แฮส) และการผลิตพืชผักอินทรีย์ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร
จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 285,004 ไร่ ให้ผลผลิต 205,191 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 720 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอแม่แจ่มปลูกมากที่สุด ประมาณ 170,000 ไร่ มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ซึ่งจะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน 2566 - มกราคม 2567 ราคาที่เกษตรกรขายผลผลิตช่วงออกสู่ตลาด ความชื้น 14 % เฉลี่ย 10.77 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้รวบรวมในพื้นที่ร้อยละ 80 และจำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ ร้อยละ 20 ปลายทางของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มไก่ไข่ – เชียงใหม่ ลำพูน คาดว่าจะมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ในปี 2566 จำนวน 8.37 ล้านตัน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
ผลการร่วมกันติดตามงานในครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร จะร่วมสนับสนุนในการขยายการผลิตชีวภัณฑ์ให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการซังข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยว และการปลูกไม้ผลที่ให้ผลผลิตรวดเร็วที่สามารถเป็นสินค้าเกษตรส่งออกไปจีนได้ ได้แก่ ขนุนร่วมกับกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ๆมีความสูงเหมาะสม เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอย่าวรวดเร็ว ตามนโยบายรัฐบาล “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”โดยได้มอบหมายให้ นางสาวจงรัก อิ่มใจ ผอ.สวพ.เขต 1 เชียงใหม่ เลขานุการคณะทำงานใน MOU นี้ จีดทีมนักวิจัยมาให้คำแนะนำให้ครบวงจร
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรจะสนับสนุนกิ่งพันธุ์มะคาเดเมียและต้นกล้าพันธุ์กาแฟอะราบิกาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม พร้อมกับสนับสนุนทางวิชาการในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าในอะโวกาโด ซึ่งเริ่มระบาดในสวนเกษตรกร โดยจะสนับสนุนนวัตกรรมการใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีพร้อมวิธีการดูแลรักษาเพื่อให้สามารถปลูกอะโวกาโด้คุณภาพดีและปริมาณผลผลิตสูง รวมถึงการเพิ่มปริมาณการดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์