นายเชาวลิต ช่วยสง นายกเทศมนตรีบ้านเชี่ยวหลาน ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันในส่วนของท่าเทียบเรือเทศบาลบ้านเชี่ยวหลาน (ในเขื่อนรัชชประภา) ที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในทุกวันนี้ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าปัจจุบันท่าเทียบเรือของเรายังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร เนื่องจากเทศบาลเองมีศักยภาพไม่เพียงพอในการที่จะบริหารงบประมาณ ซึ่งการปรับปรุงท่าเทียบเรือต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างมาก
นายกเทศมนตรีบ้านเชี่ยวหลาน กล่าวต่อว่า ทางเทศบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพัฒนาท่าเทียบเรือได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นถนนท่าเข้าท่าเทียบเรือที่มีการปรับปรุงใหม่ ไฟส่องสว่างบริเวณท่าเข้าและบริเวณท่าเทียบเรือ ลาดจอดรถของนักท่องเที่ยว มีการขยายลานจอดรถ มีการสร้างโป๊ะที่จอดเรือให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น สถานที่รับรองนักท่องเที่ยว และห้องน้ำที่ให้บริการนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการอย่างเพียงพอ
นายเชาวลิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางเทศบาลได้ประสานกับทางจังหวัด เพื่อของบประมาณไปยังกระทรวงต่างๆ ซึ่งทางจังหวัดได้จัดสรรงบประมาณของปี 2567 จำนวน 40 ล้าน ที่จะนำมาพัฒนาระบบเส้นทางการคมนาคม โป๊ะเทียบเรือ และอาคารที่เชื่อมโยงกับโป๊ะ ให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปชมกุ้ยหลินเมืองไทยในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ซึ่งออกแบบโดยกรมเจ้าท่า ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างไม่เกิน 1 ปี
นายกเทศมนตรีบ้านเชี่ยวหลาน กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีเราต้องยอมรับว่าระดับน้ำขึ้นลงในเขื่อนรัชชประภา เวลาน้ำลงลงไปกว่า 10 เมตร บางครั้งน้ำขึ้นก็ขึ้นมากกว่า ซึ่งไม่เหมือนน้ำในทะเลที่ขึ้นลงไม่เกิน 50 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าพื้นที่เพิ่มขึ้นจากช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ผู้ประกอบการก็ได้ดำเนินการธุรกิจการท่องเที่ยวตามปกติ และคาดว่าในปี 2567 สถานการณ์การท่องเที่ยวของเขื่อนรัชชประภาก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ จะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ไม่น้อยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแพที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้คืนละไม่น้อยกว่า 1 พันคนต่อคืน หากรวมนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปกลับ 2,000-3,000 คน หากมีท่าเรือที่มีมาตรฐานและสวยงาม จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวในอนาคต.