นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมเป็นประธานพิธีเปิดงานเสวนา “Social Online ดาบสองคมวิชาชีพสื่อ” จัดโดย สมาคมวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 69 ปีวันสถาปนาคณะวารสารศาสตร์ฯ โดยมีนายภูวนารถ ณสงขลา นายกสมาคมวารสารศาสตร์ฯ และ รศ.กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ คณบดี คณะวารสารศาสตร์ฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการสมาคมฯ กับผู้บริหารของคณะวารสารศาสตร์ฯร่วมให้การต้อนรับ
นายประเสริฐ กล่าวในตอนหนึ่ง ว่า พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันที่ล้ำหน้าไปมาก ทางกระทรวงดีอีจึงได้มีนโยบายที่ชัดเจน และถือเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของกระทรวงในการที่จะสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงและมีความรู้ทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งจะมีการพัฒนาโครงสร้างด้านดิจิทัลเพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามทางกระทรวงก็ยอมรับและไม่ได้นิ่งนอนใจกับกรณีปัญหาภัยต่างๆที่แอบแฝงมาในช่องทางของโซเชียลออนไลน์ ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้เกิดกับเศรษฐกิจและสังคมปีละกว่า 50,000 ล้านบาท หรือรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงต้องสูญเสียชีวิตดังที่เป็ฯข่าว ซึ่งปัญหาในส่วนนี้จำเป็นที่จะต้องมีการหาแนวทางในการแก้ไขและขจัดปัญหาให้ลดน้อยลงหรือให้ปัญหาหมดสิ้นไป
อย่างไรก็ตาม แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก็งหลอกลวง มีการใช้สื่อออนไลน์หลอกลวงสารพัดวิธี ขณะเดียวกันเรื่องของข่าวปลอมก็มีเกิดขึ้นทั่วโลก สื่อจึงควรมีการตรวจสอบก่อนการนำเสนอและไม่ตกเป็นเครื่องมือของข่าวปลอม นอกจากนี้ยังมีภัยจากการใช้สื่ออนไลน์เพื่อชี้นำในบางเรื่อง ดังนั้นการบริโภคสื่อ ประชาชนควรต้องมีสติ ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อควรมีจริยธรรม ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าสื่อวิชาชีพทุกคนมีอยู่ในใจ
“ทางกระทรวงจึงรู้สึกประทับใจที่สมาคมวารสารศาสตร์ธรรมศาสตร์และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการผลิตนักศึกษาที่มีความรู้มีคุณภาพเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัล และเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาในระบบให้มากขึ้น รวมทั้งการตื่นตัวของสื่อมวลชนทุกแขนงที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาในเรื่องนี้ ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับเศรษฐกิจของประเทศและสังคมไทย” นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับเวทีเสวนา ในส่วนของวิทยากรที่มาจากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ คือ นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ น.ส.ชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส TPBS และที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นายระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาเพจส่องสื่อ และ The Modernist และ นายนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Today มีความเห็นตรงกันว่า การที่เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทำให้คนเข้าถึง social online ได้ง่ายขึ้นและกว้างขวางขึ้นนั้น ด้านหนึ่งถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่อีกด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเสมือนดาบอีกด้านที่มีกลุ่มคนนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ขณะเดียวกันประชาชนและคนในสังคมเองก็จำเป็นต้องตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลหรือเสพสื่อด้วยเช่นกัน เพราะโดยพฤติกรรมสังคมส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการรับข้อมูลที่ตนเองอยากรู้ มากกว่าการรับข้อมูลที่สื่อเห็นว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนควรต้องรู้ ทำให้ธุรกิจสื่อที่นอกเหนือจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจและการแสวงหารายได้ ส่งผลให้ในหลายๆกรณีมีการนำเสนอข่าวที่เป็นกระแส ที่มีเรื่องของเรตติ้ง และระบบอัลกอริทึมเข้ามาเกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสื่อ
อย่างไรก็ตามวิทยากรทุกคนยังเชื่อมั่นว่าบรรดาผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องของจริยธรรม เรื่องของผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก
ขณะที่ รศ.ดร.วิกานดา พรสกุลวานิช อาจารย์กลุ่มวิชาบริหารการสื่อสาร คณะวารสารศาสตร์ฯ ได้ยืนยันว่าในฐานะสถาบันที่ผลิตนักศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนให้กับสังคม ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการที่จะเป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีจริยธรรมในวิชาชีพ ขณะเดียวกันทางคณะวารสารศาสตร์ฯก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วให้มากที่สุด
สามารถชมงานเสวนาครั้งนี้ ได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=330807936236155