ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจวัตรประจำวันของเราทุกคน ล้วนส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน ดังนั้น พวกเราต้องร่วมกันลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบเลวร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนมากนั้นจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนมาก เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้พลังงานถ่านหิน เป็นต้น
โดย คณะนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีประกอบด้วย นายขวัญชัย บุญธรรม, นายศุภกฤต เสรีวรวิทย์กุล, นายปรียาภรณ์ ลอยเวียงคำ และนายวรินทร โชควัฒนคุปต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้เปิดเผย ผลศึกษาวิจัยการประเมินการปล่อยคาร์บอนจากการใช้ไฟฟ้าและยานพาหนะ โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรีเป็นพื้นที่ศึกษา พบว่า กิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุดคือการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพัดลม เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ หรือการเปิดไฟทิ้งไว้ตลอดคืน ส่วนการใช้ยานพาหนะ มีสัดส่วนปล่อยคาร์บอนอยู่มากเหมือนกัน โดยทุกระยะทาง 1 กิโลเมตร ค่าคาร์บอนจากรถจักรยานยนต์สามารถปล่อยคาร์บอนได้ไม่ต่ำกว่า 45-50 กรัม ส่วนรถยนต์อาจปล่อยได้มากถึง 200 กรัม ลองคิดดูว่าหากภายในมหาวิทยาลัยมีรถสัก 100 คัน แล้ววิ่งภายในมหาวิทยาลัยคันละรอบแบบไปกลับจะปล่อยคาร์บอนมากขนาดไหน
กิจวัตรที่ดูธรรมดาเหล่านี้กลับปล่อยคาร์บอนไม่ต่ำกว่า 1.5-2 ตันคาร์บอนต่อวัน 60 ตันคาร์บอนต่อเดือน หรือราว ๆ 700 ตันคาร์บอนต่อปี สำหรับวิทยาเขตกาญจนบุรี และหากคิดสภาพของเมืองไทยแล้วหล่ะก็ปริมาณคาร์บอนที่มีล้วนทบทวีไปอีกมากมหาศาล สิ่งที่สามารถเข้ามามีส่วนช่วยในการลดค่าคาร์บอนได้และยังให้พลังงานไฟฟ้าแก่อาคาร ได้แก่ Carbon Credit ซึ่ง มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ภายในวิทยาเขตกาญจนบุรี ที่ต้องดำเนินการให้เหมาะกับสถาบันการศึกษา ที่มีทั้งแหล่งการเรียนรู้ และมีองค์ความรู้มากมาย จึงได้มีการใช้ Solar Roof Top หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนจากแหล่งไฟฟ้าที่ทำให้เกิดคาร์บอน โดย Solar Roof Top ภายในวิทยาเขต ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยมาจากการใช้ไฟฟ้าถึง 31% และทั้งนี้รถรางรับส่งสาธารณะของมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นยานพาหนะที่มีส่วนช่วยในการลดค่าคาร์บอนจากยานพาหนะประเภทต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการแนะนำและควบคุมคุณภาพโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอริกา พฤฒิกิตติ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
///////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน