ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายดิเรก จอมทอง ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน นายวสันต์ สุนจิรัตน์ รองประธานเครือข่ายฯ กลุ่มป่าตะวันตก นายสุวิชาณ สุวรรณาคะ เลขาธิการเครือข่ายฯ ผู้แทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน และตัวแทนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างบูรณาการ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง
ซึ่งการแก้ไขปัญหาช้างป่าให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยมาตรการการแก้ไขปัญหาช้างที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน และการจัดการช้างป่า แบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย การเร่งผลักดันช้างป่าออกจากชุมชนโดยไม่ให้กลับมาอีก โดยการก่อสร้างสถานที่ควบคุมพฤติกรรมช้างป่า ซึ่งช้างที่จะนำมากักกันในศูนย์แห่งนี้เป็นช้างป่าที่มีพฤติกรรมเกเรดุร้าย เคยทำร้ายประชาชนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จัดสรรงบประมาณการทำรั้วกันช้าง / คูกันช้าง / จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยา
สำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดำเนินการไปก่อนบางส่วนบ้างแล้วเช่นการทำรั้วป้องกัน การจัดหาแหล่งน้ำไว้ตามจุดต่างๆ การจัดหาแหล่งอาหาร เพื่อให้กับช้างป่า รวมถึงสัตว์อื่นๆ และเรื่องการสร้างแหล่งอาหารนี้เป็นการดึงเอาช้างป่าเข้ามาหรือไม่ เพราะสร้างเท่าใดก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่า ซึ่งเรื่องนี้ทั้งหน่วยงานภาคีเครือข่าย ภาครัฐ และเอกชน ได้ดำเนินการมาตลอด โดยเฉพาะรั้วแต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันช้างป่า เนื่องจากช้างป่ามีความฉลาดมาก สามารถล้มรั้วด้วยวิธีต่างๆ สร้างรั้วไฟฟ้า ช้างป่าก็ล้มต้นไม้ใหญ่พาดจนสายไฟเสียหาย แล้วช้างก็เดินข้ามลงมาได้อย่างสบาย ในแต่ละปีได้ประชากรช้างป่าก็มีเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่แถบภาคตะวันตก มีระยะทางยาวติดต่อหลายจังหวัด รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน จึงประสบปัญหาเรื่องช้างป่ามากทั้งช้างไทยและช้างเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช้างป่าจะเดินออกจากป่ามาหาอาหารและแหล่งน้ำเป็นประจำทุกปีเช่นกัน
ช้างป่าเดินผ่านหมู่บ้าน ก็จะสร้างความเสียหายทั้งพืชไร่ของเกษตรกร ความเสียหายจากเกิดอุบัติเหตุกับช้างป่าที่ต้องเดินข้ามถนนสายหลัก แม้ว่าเจ้าหน้าที่ได้นำป้ายข้อความขนาดใหญ่ ติดบอกให้ระวังช้างป่า โดยให้ลดความเร็ว ซึ่ง พรบ. ที่ออกมาใหม่ข้อหานี้ก็หนักมากหากทำให้ช้างป่าเสียชีวิต สุดท้ายแต่ละปีก็จะเจอปัญหาเช่นนี้มาตลอด บางครั้งไม่ใช่แค่สูญเสียทั้งทรัพย์สิน บางครั้งทำให้สูญเสียชีวิตไป มากบ้าง น้อยบ้างตามที่เป็นข่าว เนื่องจากเส้นทางในอดีตเป็นเส้นทางเดินของช้างป่า เพื่อลงหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร
แต่ปัจจุบันความเจริญเข้ามาในพื้นที่ มีทั้งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆมากมาย ความจำเป็นต้องมีเส้นทางผ่านตรงจุดดังกล่าว มันจึงเกิดปัญหาตามมาตลอด เราก็ต้องยอมรับเนื่องจากภาครัฐไม่มีงบประมาณที่จำกัด ไม่เพียงพอในการดำเนินการให้เสร็จไปในคราวเดียว และในยุคปัจจุบันช้างป่าก็พัฒนาเพื่อความอยู่รอดของช้าง สิ่งที่ดำเนินการไปจึงไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เสียงบประมาณไปอย่างที่เห็นๆกัน
////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน