รศ.นพ.ณรงค์ ขันตีแก้ว หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ โครงการ CASCAP เปิดเผยว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 พบว่าการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีมีการพัฒนาที่ดีขึ้นการวินิจฉัยโรคทำได้ดีขึ้นมีความก้าวหน้าของรังสีวินิจฉัยมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้อัลตราซาวด์ (ultrasonography) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography scan; CT) และการทำเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging; MRI) มีการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด ประกอบกับเทคนิคด้านการให้ยาสลบที่ดีขึ้นมาก และที่สำคัญคือเทคนิคการผ่าตัดก็มีการพัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลง อัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลดลง ทำให้ผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีโดยการผ่าตัดดีขึ้นมาก
หากคุณเป็นโรคมะเร็ง และระหว่างการรักษา คุณมีชีวิตอยู่รอด สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ทำงานได้ เดินทางได้ ท่องเที่ยว กินอิ่ม นอนหลับ หัวเราะ ยิ้ม ให้กับโลกใบนี้ได้อย่างสะดวกโยธินยาวนานติดต่อกันถึง 5 ปี ในทางการแพทย์จะถือว่าคุณหายจากโรคมะเร็งแล้ว
ซึ่งข่าวดีของโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่ก่อนหน้านี้นับเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆของประเทศ คือตัวเลขสถิติทางการรักษาด้วยการผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระหว่างปี พ.ศ. 2548 2552 ถูกรายงานเป็นครั้งแรกว่า มีอัตราการรอดชีวิตหลังการผ่าตัดไปแล้ว 5 ปีเฉลี่ยสูงถึง 21% และในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 47% ซึ่งจากเดิมมักตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี เรามักสังเกตว่ามีภาวะตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต เนื่องจากมีก้อนมะเร็งขยายขนาดและมีการอุดตันของท่อน้ำดี การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ทำได้ด้วยการผ่าตัด และแพทย์สามารถรักษาให้หายขาดได้ถึง 20% แต่การผ่าตัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ในแต่ละครั้งกินเวลายาวนานถึง 6-9 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงถึงรายละกว่า 300,000 บาท ดังนั้นแพทย์ 1 คน จึงสามารถผ่าตัดผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้เต็มที่ 300 กว่ารายภายในหนึ่งปี โดยที่ต้องใช้เวลาจดจ่ออยู่กับการผ่าตัดโรคนี้อย่างมาก
ร้ายลึกลงไปกว่านั้น แพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดมะเร็งท่อน้ำดีก็มีจำนวนไม่มาก แต่อย่างไรก็ตามข่าวดีที่ได้จากการศึกษาวิจัยของโครงการ CASCAP ที่ผ่านมาพบว่า หากผู้ป่วยตรวจพบก่อน และมารับการรักษาในระยะเริ่มต้น ซึ่งใช้เวลาผ่าตัดเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น มีโอกาสหายขาดได้ถึง 60% และเสียใช้ค่าจ่ายในการรักษาถูกกว่ามาก
ปัจจุบันนี้ แพทย์สามารถใช้อัลตราซาวด์บริเวณตับในการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มต้นได้ โดยแพทย์จะสามารถมองเห็นก้อนมะเร็งหรือเห็นลักษณะของท่อน้ำดีขยายตัว บ่งบอกถึงความผิดปกติที่อาจหมายถึงมะเร็งท่อน้ำดีได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ถูกสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จะได้รับคำแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วย CT หรือMRI อีกครั้งก่อนที่จะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด หรือ ให้ยาเคมีบำบัด ต่อไป
หัวหน้าโครงการฯเปิดเผยว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานวิจัยชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการใช้อัลตราซาวด์ ในการตรวจหา เนื้อเยื่อพังผืดรอบๆท่อน้ำดี หรือ Periductal fibrosis (PDF) ซึ่งเป็นรอยโรคที่เกิดจากการอักเสบแบบเรื้อรังอันเนื่องมาจากการติดพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ขณะนี้แพทย์จึงใช้การตรวจดังกล่าวนี้ เป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี
ดังนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องสามารถใช้วินิจฉัยกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้นได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปสู่การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ทุก ๆ 6 เดือน หากมีการดำเนินของโรคไปเป็นมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น (ซึ่งจะใช้เวลา 5-10 ปี) ก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และมีโอกาสหายขาดได้สูง เทคโนโลยีนี้จึงได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อตรวจคัดกรอง เฝ้าระวังและรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในเวลาต่อมา
ในอดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีส่วนใหญ่ที่มารับการรักษามักจะมาในระยะที่ลุกลามและแพร่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียงมากแล้ว ซึ่งโอกาสในการรักษาในระยะนี้ถือว่าแทบจะเป็นศูนย์ เฉกเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆที่อยู่ในระยะแพร่กระจาย
จึงมีคำกล่าวว่า “มะเร็งท่อน้ำดี รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย” ดังนั้นการพัฒนาวิธีการผ่าตัด การดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัด รวมถึงการพัฒนาวิธีการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยผู้ที่เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มต้นเพื่อนำไปสู่การรักษาและเฝ้าระวังโรคจึงมีความสำคัญในการทำควบคู่กันไปเพื่อป้องกันและรักษาโรคนี้ให้หายไปจากสังคมไทยในที่สุด