ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งผลประกอบการงวด 9 เดือน และไตรมาส 3 ปี 2560 โดยธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) งวด 9 เดือน อยู่ที่ 14,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ที่ 5,048 ล้านบาท ในไตรมาส 3 แม้ลดลง 2% จากไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน และแม้สัดส่วน NPL จะลดลงมาอยู่ที่ 2.44% ธนาคารยังคงดำเนินธุกิจอย่างรอบคอบ (prudence) และตั้งสำรองฯ ในงวด 9 เดือน ทั้งสิ้น 6,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อ NPL (Coverage ratio) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 141% หลังตั้งสำรองฯ กำไรสุทธิงวด 9 เดือน อยู่ที่ 6,429 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “สำหรับงวด 9 เดือน สินเชื่อเติบโตได้ 4% จากต้นปี (YTD) แม้สินเชื่อเอสเอ็มอียังชะลอตัว แต่สินเชื่อลูกค้าบุคคล โดยเฉพาะจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง และสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ก็ยังคงขยายตัวเช่นกัน ทางด้านเงินฝากเพิ่มขึ้น 1% (YTD) จากฐานเงินฝากลูกค้าบุคคล โดยใน 9 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารสามารถขยายเงินฝากจากลูกค้าบุคคลได้ 5% ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากเพื่อการทำธุรกรรม “ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี” (TMB All Free) ที่ขยายตัว 34% หรือเงินฝากเพื่อการออม “ทีเอ็มบี โน-ฟิกซ์” (TMB No-Fixed) และ ME ที่เติบโตได้ 14% และ 7% ตามลำดับ”
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในงวด 9 เดือนขยายตัวได้ 1% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) เพิ่มขึ้นจาก 3.12% ในปีที่แล้วมาอยู่ที่ 3.16% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในงวด 9 เดือนขยายตัวได้ 23% จากรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าบุคคลที่เพิ่มขึ้นถึง 51% โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและแบงก์แอสชัวรันส์ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมจากลูกค้าธุรกิจ แม้ในงวด 9 เดือนยังคงลดลง 19% จากปีที่แล้ว สาเหตุหลักมาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อ แต่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งขึ้น หลังเห็นการขยายตัว 16% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขับเคลื่อนโดยการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและหนังสือค้ำประกัน
รายได้รวมของธนาคารในงวด 9 เดือน อยู่ที่ 27,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% ขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีจำนวน 12,915 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% มาจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขยายตัวทางธุรกิจเป็นหลัก ทำให้ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานหลักก่อนสำรองฯ อยู่ที่ 14,947 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาสที่ 3 สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ลดลงจากไตรมาส 2 เป็นจำนวน 167 ล้านบาท มาอยู่ที่ 18,041 ล้านบาท ซึ่งทำให้ สัดส่วน NPL ขยับลดลงจาก 2.56% มาอยู่ที่ 2.44% และเริ่มส่งสัญญาณทรงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงตั้งสำรองฯ ในงวด 9 เดือนทั้งสิ้น 6,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนหน้า เพื่อคงอัตราส่วนสำรองฯ ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้อยู่ในระดับสูงที่ 141% เป็นผลให้หลังหักสำรองฯ และภาษี ธนาคารมีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 จำนวน 2,003 ล้านบาท และกำไรสุทธิงวด 9 เดือนอยู่ที่ 6,429 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ธนาคารยังคงสถานะเงินกองทุนในระดับสูง สะท้อนได้จากอัตราส่วนเงินกองทุนรวม (CAR) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ภายใต้เกณฑ์ Basel III ที่อยู่ที่ 17.9% และ 13.6% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งกำหนดไว้ที่ 9.75% และ 7.25% ตามลำดับ
นายบุญทักษ์ สรุปว่า “ธนาคารให้ความสำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงภายใต้แนวทาง “Need-Based Bank” กับ “Simple & Easy” ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าผ่าน Transactional banking และ Digital banking ได้ ส่งผลให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารก็จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตได้เต็มที่ในแบบลูกค้าต้องการต่อไป”