ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการยกเว้นการตรวจลงตรา หรือ ฟรีวีซ่า ให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้น ได้ไม่เกิน 30 วัน เป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 - 31 ธันวาคม 2569
“การยกเว้นการตรวจลงตราให้กับชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาไทยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักธุรกิจเข้ามาอยู่ในไทยได้สะดวกมากขึ้น” นายคารม ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของการฟรีวีซ่าญี่ปุ่นนั้น กำหนดรายละเอียดดังนี้
1. ฝ่ายไทยได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลา 30 วัน (ผ.30) โดยเป็นการให้ฝ่ายเดียว ตั้งแต่ปี 2538 ดังนั้น ในทางปฏิบัตินักธุรกิจญี่ปุ่นสามารถใช้มาตรการ ผ.30 เดินทางเข้าไทยโดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา แต่กรณีนักธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้นจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ผ.30
ทั้งนี้เมื่อปี 2565 สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้ขอให้ไทยยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะเดินทางเข้าราชอาณาจักรเพื่อติดต่อธุรกิจระยะสั้นด้วย ส่วนญี่ปุ่นได้ยกเว้นการตรวจลงตราให้ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางไทยซึ่งเดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อการท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจเป็น เวลา 15 วัน ตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นมาตรการที่ให้แก่ไทยฝ่ายเดียวแบบชั่วคราว คราวละ 3 ปี ซึ่งล่าสุดมีการต่ออายุจนถึงปี 2568
2. ฝ่ายญี่ปุ่นได้หยิบยกเรื่องนี้ในการหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทุกระดับ ทั้งในการหารือทวิภาคีระหว่าง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ที่กรุงเทพฯ และในการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่นครซานฟรานซิสโก
ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้อง ว่ามีประโยชน์ในภาพรวม โดยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มียอดลงทุนสะสมเป็นอันดับ 1 หลายทศวรรษ และปัจจุบันเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยด้วย
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2565 จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีน และสหรัฐฯ โดยการค้ารวมมีมูลค่า 59,253.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.06 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 2.30% แบ่งเป็น การส่งออก มูลค่า 24,669.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 855,401 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 34,584.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.21 ล้านล้านบาท โดยไทยขาดดุลการค้า 9,915.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ358,228 ล้านบาท
ส่วนสถิติการลงทุนญี่ปุ่นในไทย จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์พบว่า ญี่ปุ่นมีการลงทุนรวมในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าสูงถึง 27,777.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 970,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการลงทุน 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดของไทย และมีบริษัทญี่ปุ่นในไทยกว่า 6,000 บริษัท จากทั้งสิ้น 14,846 บริษัทในอาเซียน