หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า Mr.Maurizio Bussi รักษาการผู้อำนวยการการใหญ่ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว (ILO) ได้นำคณะหารือแนวทางการขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ ILO ได้เสนอโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการป้องกันและลดการใช้แรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็ก และรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับอื่นๆ รวมทั้งการขจัดการหาประโยชน์จากแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล นับเป็นโครงการความร่วมมือร่วมกันที่จะช่วยในการขับเคลื่อนนโยบาย การวิเคราะห์เรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะนำเข้าไปสู่การรับอนุสัญญาเกี่ยวกับแรงงานบังคับและอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 188
ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กระบวนการตรวจแรงงาน ในลักษณะของการบูรณาการไม่เฉพาะของกระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียวแต่เป็นการบูรณาการกันระหว่างต่างกระทรวง อาทิ ทหารเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่เน้นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในรูปแบบของความสมัครใจในเรื่องของการทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practice หรือ GLP) ซึ่งจะมีการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการทำงานร่วมกับ NGO หรือสหภาพแรงงานต่างๆ โดยเน้นไปที่แรงงานประมงและแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล สำหรับโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสหภาพยุโรป (EU) เพื่อช่วยประเทศไทยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องแรงงานที่เกี่ยวข้องกับประมง
“การทำงานร่วมกับสหภาพ และ NGO อยากให้มีการทำงานร่วมกันแบบไตรภาคีจริงๆ มีภาครัฐเข้าไปร่วมด้วย ไม่เช่นนั้นภาพที่ออกมาเหมือนภาครัฐไม่ได้ทำอะไรเลย ซึ่งในความเป็นจริง ๆ ประเทศไทยได้มีการดำเนินการในเรื่องของการดูแลแรงงานข้ามชาติดีมาก ทั้งในแง่ทางกฎหมาย เชิงการคุ้มครอง เรื่องของหลักประกันทางสังคม จึงมีการพูดคุยกันว่าอยากให้ภาครัฐมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่กระบวนการวางแผน กระบวนการที่ทำงานร่วมกันตลอดระยะเวลาดำเนินงาน ซึ่งรักษาการผู้อำนวยการการใหญ่ ILO เห็นด้วยที่จะตั้งเป็นคณะกรรมการเป็นที่ปรึกษาเพื่อที่จะดูแลกำกับโครงการนี้ร่วมกัน”
นอกจากนี้ ในรายละเอียดของโครงการกระทรวงแรงงานมีความยินดี แต่เนื่องจากว่าโครงการฯ มีรายละเอียดในหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและเพื่อให้การดำเนินโครงการสอดคล้องการทำงานของกระทรวงแรงงานและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย จะมีการรายงานให้กับคณะกรรมการซึ่งกำกับดูแลหลายๆ กระทรวงในเรื่องของนโยบายด้านนี้ให้ได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ อาจมีการปรับในรายละเอียดบางส่วน หรือปรับในแนวปฏิบัติเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเร็วๆ นี้
ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นอกจากนี้ได้มีการหารือประเด็นการขยายโครงการว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานอพยพและโยกย้ายถิ่นฐาน (Triangle Project) เฟส 2 เป็นโครงการในลักษณะของการดูแลแรงงานข้ามชาติ เน้นในเรื่องของการบริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องของแรงงานข้ามชาติ อาทิ การส่งเสริมให้มีกระบวนการที่ทำงานต่อเนื่อง แรงงานสามารถทำงานในทักษะที่ได้รับไปจากการมาทำงานในประเทศไทย เรื่องของการโอนเงินกลับบ้าน กระบวนการจัดการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดระบบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาเฟสแรก เน้นการสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของกระบวนการตรวจแรงงานของกระทรวงแรงงาน อาทิ การปรับแก้กฎหมาย การทำความเข้าใจระหว่างรัฐให้เป็นรูปแบบของไตรภาคี
“คาดว่าโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อต่อต้านรูปแบบการทำงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล จะสามารถดำเนินการในเดือนธันวาคม 2558 ส่วนโครงการ Triangle เฟส 2 คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2558”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้ภาพการทำงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมงมีความชัดเจนมากขึ้นว่าประเทศไทยมีการดูแล จัดการเกี่ยวกับเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย การนำเข้าแรงงานที่ถูกต้อง การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานประมง ระบบการจัดการว่าแรงงานประมงไม่ได้ถูกบังคับ เพราะโครงการ Triangle ที่ผ่านมามีการวิจัย ซึ่งผลออกมาว่า 60% ของแรงงานประมงยังพอใจที่จะทำงานในอาชีพประมงต่อ นั่นแสดงให้เห็นว่านายจ้างไม่ได้ไม่ดีไปทุกคน รวมทั้งเรื่องของการจ้างงานก็ไม่ได้ไม่ดีไปทุกราย ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐที่สำคัญ คือ ต้องจัดระบบให้ดีในเรื่องของการดูแลคุ้มครอง ทั้งเรื่องของการดูแลการนำเข้า การตรวจแรงงานให้ได้รับสภาพการจ้างงานที่ดี เรื่องกระบวนการรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นต้น