วันนี้ 15 ม.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี นายนพพร วสุธาผาภูมิ พร้อมตัวแทนชาวบ้านบ้านทุ่งเสือโทน หมู่ 4 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ร่วม 20 คน เดินทางมาที่ศูนย์ดำรงธรรมชั้นล่างศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้กับร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เรื่องขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ของกรมควบคุมมลพิษ โดยมีนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เป็นผู้รับมอบหนังสือ มีนายศิวะกรณ์ วิเชียรเพริศ ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมชี้แจงและรับฟังปัญหา ซึ่งศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี โดยนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ได้ลงเลขรับเรื่องที่ 14 ลงวันที่ 15 ม.ค.2567
ทั้งนี้นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี และนายนพพร วสุธาผาภูมิ ร่วมกันเปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษเป็นผู้คำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วให้มีสภาพที่ปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน โดยกรมควบคุมมลพิษกำหนดเป็นแผนงาน วิธีการ และดำเนินการในรูปแบบโครงการพื้นฟูสำห้วยคลิตี้จาการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี เป็น 2 ระยะ
ต่อมากรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ระยะที่ 1และระยะที่ 2 ในพื้นที่หมู่บ้านทุ่งเสือโทน หมู่ที่ 4 ตำบลระแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ไปแล้ว พบว่า ยังมีกองกากหางแร่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ชุมชน มากกว่า 8 จุด ล้วนมีค่าสารตะกั่วมากกว่า 100,000 มิลิกรัมต่อกิโลกรัม ถือได้ว่ามีคำสูงกว่าค่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก มีปริมาณไม่น้อยกว่า 500,000 ตัน พบทั้งเป็นพื้นที่เดิมที่เคยดำเนินการพื้นฟูในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มาแล้ว
และพื้นที่ที่พบเพิ่มเติมจวกการสำรวจของสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.) หลังจากที่เข้า ไปดำเนินการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จาการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2566 ประกอบกับตำแหน่งที่ตั้งของกองกากทางแร่ ทั้ง 8 จุดนี้ ตั้งอยู่เหนือหมู่บ้านทุ่งเสื่อโพน หมู่ที่ 4 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ ฤดูฝนของทุกๆปีเกิดการชะกากหางแร่ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วลงมายังพื้นที่อยู่อาศัยภายในชุมชน พื้นที่ทำกิน ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ลำห้วยคลิตี้ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นๆของชาวบ้าน โดยเฉพาะในลำห้วยคลิตี้
เมื่อมีการชะลงก็จะเกิดการสะสมของกากหางแร่ในลำห้วย มีค่าปนเปื้อนสารตะกั่วมากกว่า 20,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และมีปริมาณไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน ทั้งกองกากหางแร่ที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ต่างๆ และสะสมอยู่ในลำห้วย สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เช่น ไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยและน้ำใต้ดินได้ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภคได้ ไม่สามารถจะเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคได้ ไม่สามารถจับสัตว์น้ำหรือพืชผักที่ขึ้นในลำห้วยมาบริโภคได้ เกิดการเจ็บป่วยจากการ ได้รับสารตะกั่วทั้งจากการบริ โภคอาหารที่ปนเปื้อน สัมผัส และรับเข้าทางระบบเดินหายใจในรูปแบบของฝุ่นที่ปนเปื้อนของฝุ่นตะกั่วฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับสารตะกั่วมีผลต่อการพัฒนาการสมองและร่างกาย และการได้มาซึ่งอาหารที่ปลอดภัย ชาวบ้านต้องมาเสียเงินเพื่อซื้ออาหารจากภายนอกหมู่บ้านทำให้มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงมากกว่าพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ภาพลักษณ์ของหมู่บ้านมักจะถูกมองว่าเป็นหมู่บ้านอันตรายจากสารตะกั่วอีกด้วย
เบื้องต้นชาวบ้านคลิตี้ ใด้ยื่นหนังสือให้ทางกรมควบคุมมลพิษเพื่อประสานแนวทางการแก้ไขปัญหากับกรมควบคุมมลพิษในฐานะเจ้าของโครงการสิ้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะที่ 2 รวมทั้งชาวบ้านได้แจ้งผ่านการประชุมการมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ เพื่อแจ้งความเดือดร้อนถึงผลกระทบและความเป็นอันตรายของกากหางแร่และตะกอนในลำห้วยที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ แต่ได้รับคำตอบแต่เพียงว่า กรมควบคุมมลพิษมีปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่มีอย่างจำกัดเพื่อมาแก้ไขให้กับชาวบ้านทำได้เพียงแค่ปิดคลุมพื้นที่ปนเปื้อนเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และกั้นแนวเขตด้วยลวดหนามและติดตั้งป้ายเตือนบ่งบอกถึงความเป็นอันตรายของพื้นที่ และทำการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้หลังจากที่ดำเนินโครงการระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปเมื่อปี 2566 แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองกากหางแร่และตะกอนในลำห้วยที่หลงเหลืออยู่ให้กับชาวบ้าน
จากสภาพปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบมาโดยตลอดกว่า 20 ปี และปัจจุบันผลกระทบและความเดือดร้อนนี้ก็ยังคงอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตและสุขภาพอนามัยของชาวบ้านมากกว่า 2,000 คน ทั้งนี้ที่ผ่านมาปราศจากความคืบหน้าของการแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ถึงแม้ว่ากรมควบคุมมลพิษจะทำการดำเนินงานโครงการระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปแล้วก็ตาม แต่ดำเนินการแก้ไขปัญหายังไม่จบ ยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านมากขึ้น
ดังนั้นชาวบ้านจึงเดินทางมาร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะพ่อเมืองกาญจนบุรี เป็นที่พึ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ด้วยการช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ให้กับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมาช้านานด้วย
ด้ายนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับหนังสือร้องเรียนจากตัวแทนชาวบ้านแล้วขั้นตอนต่อไปจะนำเรื่องนี้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาความก้าวหน้าของโครงการการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องว่าการกำจัดกากตะกั่วพวกนี้ถึงขั้นตอนไหนอะไรอย่างไรบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ ส่วนผมก็จะประสานกับทาง ทสจ.กาญจนบุรีในการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป
ส่วนนายศิวะกรณ์ วิเชียรเพริศ ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า การที่ชาวบ้านมาร้องเรียนในวันนี้คาดว่าภายใน 2 อาทิตย์ก็คงจะได้คำตอบ ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี จะทำหนังสือประสานไปที่กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)เพื่อขอรับทราบความคืบหน้า จากนั้นจะแจ้งให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี และพี่น้องประชาชนที่มาร้องเรียนได้ทราบ
ส่วนประเด็นที่ชาวบ้านมาร้องเรียนในวันนี้นั้นเป็นเรื่องที่ชาวบ้านขอให้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูกากตะกั่วที่ยังตกค้าง จากการที่ได้อ่านเอกสารพบว่าปัจจุบันถึงแม้ว่าจำดำเนินการฟื้นฟูไปแล้ว 2 เฟส แต่ความเดือดร้อนของการปนเปื้อนตามที่ศาลสั่งนั้น ชาวบ้านและผู้นำชุมชนบอกว่ามันยังคงมีตกค้างอยู่ เพราะฉะนั้นขั้นตอนต่อไปในทางวิชาการจะต้องดูว่าขณะนี้กรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนอะไรบ้าง เมื่อทราบก็จะมาชี้แจงให้ชาวบ้านได้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ทราบงบประมาณที่กรมควบคุมมลพิษใช้ในการฟื้นฟูกองกากแร่ที่ยังตกค้างอยู่ทั้งในระยะ ที่ 1 และระยะที่ 2 ประมาณ 700 ล้านบาทขึ้นซึ่งงบประมาณจำนวนนี้เป็นเพียงแค่งบโครงการฟื้นฟูเท่านั้นยังไม่นับรวมงบประมาณที่สนับสนุนในด้านอื่นๆ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่เคยทอดทิ้งประชาชน เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปแต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนใด หากทราบก็จะชี้แจงให้ทราบอีกครั้งหนึ่งต่อไป
ในส่วนเรื่องร้องเรียนนี้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี จะส่งหนังสือไปถึงกรมควบคุมมลพิษเพื่อขอข้อมูลคาดว่าประมาณ 1 อาทิตย์ก็คงจะแล้วเสร็จ และรอคำตอบกลับมาอีก 1 อาทิตย์ ซึ่งใช้เวลาไม่นานนัก
ขณะที่นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี 1 ในผู้นำชาวบ้าน กล่าวว่าก่อนอื่นต้องขอขอบคุณศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี ที่อำนวยความสะดวกและรับเรื่องร้องเรียนของเราเอาไว้ ก็อยากจะให้ติดตามเรื่องร้องเรียนของเราให้ได้โดยเร็วตามที่ชุมชนของเราต้องการ
สำหรับประเด็นหลักๆที่มาร้องเรียนในครั้งนี้นั้นคือ 1 เรื่องกากหางแร่ที่ฟื้นฟูทั้งเฟสที่ 1 และ 2 เป็นการฟื้นฟูได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีกากหางแร่ตกค้างอยู่ในพื้นที่อีกประมาณ 8 แสนกว่าตัน ซึ่งกากหางแร่เหล่านี้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สูง เมื่อฝนตกลงมาก็จะถูกชะล้างลงไปในลำห้วยคลิตี้
ซึ่งในช่วงการฟื้นฟูระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งลำห้วยคลิตี้ได้ถูกดูดตะกอนกากหางแร่ออกไปแล้ว ค่าตะกั่วเหลืออยู่ที่ประมาณ 4000-5000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี พบว่าค่าตะกั่วในลำห้วยคลิตี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 10,000-20,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นั่นแสดงให้เห็นว่ากากหางแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่สูงได้ไหลลงสู่ที่ต่ำ นี่เป็นหลักวิทยาศาสตร์ที่เราสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงทำให้เรามีความกังวลว่า กากหางแร่ที่เหลืออยู่นั้นชาวบ้านจึงต้องการให้กรมควบคุมมลพิษเร่งกำจัดฟื้นฟูให้ได้โดยเร็ว
////////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน