วันนี้ 19 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ความคืบหน้ากรณี นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา นายสถาพร ทองผาภูมิปฐวี นายนพพร วสุธาผาภูมิ พร้อมชาวบ้านบ้านทุ่งเสือโทน หมู่ 4 ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เข้าพบนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อยื่นหนังสือให้ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เรื่องขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ของกรมควบคุมมลพิษ มีนายศิวะกรณ์ วิเชียรเพริศ ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อมสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงทำความเข้าใจ โดยนายกรกรณ์ อึ๊งภากรณ์ ได้ลงเลขรับเรื่องที่ 14 ลงวันที่ 15 ม.ค.2567 ส่วนนายศิวะกรณ์ วิเชียรเพริศ แจ้งกับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการส่งหนังสือไปสอบถามข้อเท็จจริงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเชษฐ พวงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งนายอำเภอทองผาภูมิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งการประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 22 ม.ค.เวลา 14.00-16.00 น.ที่ห้องประชุมแควน้อย ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี
ซึ่งนายชาคริต ตันพิรุฬห์ นายอำเภอทองผาภูมิ เปิดเผยว่า ตามที่ ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ หมู่ 4 ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีเดินทางไปร้องเรียนร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาญจนบุรี กรณี ขอให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา นั้น
ในการนี้ ร้อยโททศพล ไชยโกมินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้มอบหมายให้อำเภอทองผาภูมิ เดินทางไปพบปะพูดคนกับประชาชนเพื่อให้กำลังใจและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งตนได้มอบหมายให้ นายนรภัทร รัตนวรายุทธ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอทองผาภูมิเป็นผู้ดำเนินการ
ซึ่งนายกำธร ศรีสุวรรณมาลา และคณะกรรมการไตรภาคีของชุมชน แจ้งว่า จากการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกรมควบคุมมลพิษ มีการกำหนด วิธีการ และดำเนินงานเป็น 2 ระยะ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว แต่พบว่ายังมีกองกากหางแร่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ชุมชนมากกว่า 8 จุด ล้วนมีค่าปนเปื้อนสารตะกั่วมากกว่า 100,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ถือได้ว่ามีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานเป็นอย่างมากมีปริมาณไม่น้อยกว่า 500,000 ตัน ทั้ง 500,000 ตันนั้นพบทั้งบริเวณพื้นที่เดิมที่เคยดำเนินการฟื้นฟูในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และพื้นที่ที่พบเพิ่มเติมจากการสำรวจของสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สวสท.)
หลังจากที่เข้าไปดำเนินการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผลกระทบและความเป็นอันตรายของกากหางแร่และตะกอนในลำห้วยคลิดี้ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก เช่น ไม่สามารถใช้น้ำในลำห้วยและน้ำใต้ดินได้ ไม่สามารถเพาะปลูกพืชผักเพื่อบริโภคได้ และไม่สามารถจะเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคได้ เกิดการเจ็บป่วยจากการได้รับสารตะกั่วทั้งจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน สัมผัส และรับเข้าทางระบบเดินหายใจในรูปของฝุ่นที่ปนเปื้อนตะกั่วฟุ้งกระจาย
ชาวบ้านคลิตี้จึงขอให้กรมควบคุมมลพิษซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจากการปนเปื้อนสารตะกั่วที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ให้มีสภาพปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษ ได้ใช้งบประมาณ ดำเนินโครงการฟื้นฟูกองกากแร่ที่ยังตกค้างอยู่ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปแล้วประมาณกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้เป็นเพียงแค่งบโครงการฟื้นฟูฯเท่านั้นยังไม่นับรวมงบประมาณที่สนับสนุนในด้านอื่นๆ
จากข้อมูลรายงานการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี และข้อมูลข้อเท็จจริงจากการดำเนินงานโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว จังหวัดกาญจนบุรี ระยะที่ 1 และ 2 ในปี 2560-2565 พบว่ายังมีกองกากหางแร่ที่มีความเข้มข้นของสารตะกั่วสูงมากประมาณ 100,000-200000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เหลือใน พื้นที่ชุมชนคลิตี้บนและ คลิตี้ล่างเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นกองกกากหางแร่ที่หลงเหลือ ในระยะที่ 1 และ 2 และที่พบใหม่เพิ่มเติมในช่วงการประเมินผลการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วจังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2566
ปัจจุบันในช่วงฤดูฝนเกิดการชะสารตะกั่วแพร่กระจายลงสู่ลำห้วยคลิตี้ พื้นที่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชาวบ้านในพื้นที่ตลอดมา รวมทั้งกองกากหางแร่ที่หลงเหลืออยู่นั้นสร้างความวิตกกังวลให้ กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก ชาวบ้านจึงได้ยื่นหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ช่วยจัดการกองกากหางแร่ ตั้งแต่ช่วงระหว่างการดำเนินงานระยะที่ 2 โดยกรมควบคุมมลพิษได้บรรเทาเบื้องต้นด้วยการปิดคลุมชั่วคราวไว้
จากการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นและการให้ข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่พบว่า มีพื้นที่กองกากหางแร่ปิดคลุมชั่วคราว 5 พื้นที่ คาดว่ามีปริมาณกากหางแร่ ประมาณ 547,870 ตัน ประกอบด้วยพื้นที่ ดังนี้
1.บ่อที่อยู่ห่างจากโรงแต่งแร่มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 500 เมตร (บ่อ 10 ไร่) 2.บริเวณใกล้ถนนทางเข้าโรงแต่ง (บ้านส่องพู) 3. บ่อเก็บตะกอนหางแร่เดิมที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานของโรงแต่งแร่ (บ่อ 22 ไร่) 4.ลานกองแร่เดิม (พื้นที่ 12 ไร่) และ 5.กองกากหางแร่ที่สำรวจพบเพิ่มเติม 4 จุด คือบริเวณถนนทางขึ้นหลุมฝังกลบแบบปลอดภัยบริเวณข้างพื้นที่ไร่คุณโจ้ (คลิตี้ล่าง) บริเวณกองหางแม่เดิมและบ่อน้ำภายในพื้นที่โรงแต่งแร่และพื้นที่ระหว่างพื้นที่ลอยแร่กับบ่อเก็บตะกอนหางแร่ (เดิม)ที่อยู่ในพื้นที่สัมปทานโรงแต่งแร่ (บ่อ 22 ไร่)
//////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน