เมื่อวันนี้ (13 ก.พ.67) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานเปิดการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง บนทางหลวงหมายเลข 3309 ช่วงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-บางพูน เพื่อนำเสนอผลสรุปของการศึกษาโครงการทั้งหมดพร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน สำหรับนำมาประกอบการพิจารณาออกแบบรายละเอียดถนนโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
โดยบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ นำเสนอรายละเอียดของโครงการ มีแนวเส้นทางโครงการฯ จุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 3309 ประมาณ กม.21+456 ถนนเป็นผิวทางแอลฟัลท์ ขนาด 2 ช่องจราจร จากนั้นประมาณ กม.34+258 แนวทางหลวงโครงการถูกทางหลวงหมายเลข 347 (ปทุมธานี-บางปะหัน) ตัดผ่าน โดยจะเชื่อมกับทางคู่ขนานของทางหลวงหมายเลข 347 จากนั้นแนวทางหลวงโครงการไปตัดทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ประมาณ กม.37+700 และไปสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 346 (ถนนรังสิต-ปทุมธานี) ประมาณ กม.38+566 ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 17.11 กิโลเมตร
ส่วนแนวคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพจราจร กำหนดจะปรับปรุงรูปแบบถนนให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย โดยมีทั้งแบบ 2 ช่องจราจร และ 4 ช่องจราจร ขึ้นอยู่กับปริมาณจราจรและสภาพปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
ช่วงที่ 1 ช่วงจุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณสี่แยกวัดเขียงรากน้อย (กม.21+456) ไปตามแนวถนนโครงการ ข้าม ทล.347 ถึงสามแยกตลาดนัดวัดเสด็จ (กม.34+700) เป็นพื้นที่นอกเขตชุมชน ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 12 เมตร
ช่วงที่ 2 บริเวณสามแยกตลาดนัดวัดเสด็จ (กม.34+700) ถึงสามแยกโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ (กม.35+200) บริเวณชุมชนหนาแน่นมากออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร โดยออกแบบให้มีระบบระบายน้ำด้านข้างใช้พื้นที่ก่อสร้าง 11 เมตร
ช่วงที่ 3 บริเวณสามแยกโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ (กม.35+200) ถึงมัสยิดยุมรอตุลอิสลามสวนพริกไทย (กม.37+000) บริเวณชุมชนหนาแน่น ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร มีระบบระบายน้ำด้านข้าง ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 14 เมตร
ช่วงที่ 4 บริเวณมัสยิดยุมรอตุลอิสลาม สวนพริกไทย (กม.37+000) ถึงทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (กม.37+800) ออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยก ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 30 เมตร
ช่วงที่ 5 บริเวณทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (กม.37+800) ถึงจุดสิ้นสุดโครงการ (กม.38+566) ออกแบบเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร เกาะกลางแบบยก ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 30 เมตร
ส่วนรูปแบบทางแยกบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3309 (แนวเส้นทางโครงการ) กับทางหลวงหมายเลข 347 ปัจจุบันในบริเวณ กม.34+258 เส้นทางโครงการทางหลวงหมายเลข 3309 จะมีแนวทางหลวงหมายเลข 347 (ถนนปทุมธานี-บางปะหัน) ตัดผ่านทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อเนื่องโดยตรงได้ โดยต้องใช้ทางคู่ขนานทางหลวงหมายเลข 347 ไปกลับรถที่ถนนบางกะพึง โดยลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 347 ซึ่งกำหนดความสูงได้ที่ 2.70 เมตร ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงมีแนวคิดในการปรับปรุงออกแบบเป็นสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 347 ขนาด 2 ช่องจราจร จากด้านตะวันออกไปด้านตะวันตก โดยด้านตะวันออก ออกแบบเป็นสะพานยกระดับตามแนวทางหลวงโครงการเดิม ข้ามทางหลวงหมายเลข 347 มุ่งหน้าไปด้านตะวันตก โดยออกแบบเป็นสะพานยกระดับแบบวนกลับไปเชื่อมกับทางหลวงโครงการด้านตะวันตก ความยาวสะพานประมาณ 642 เมตร ซึ่งรูปแบบนี้มีข้อดีในการช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนสองข้างทางด้านฝั่งตะวันตก มีค่าดูแลรักษาน้อย เวนคืนพื้นที่ปานกลาง และใช้ความเร็วในการข้ามทางยกระดับได้ปานกลาง
ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ นำเสนอว่ามีการดำเนินการศึกษา และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมทุกกิจกรรมการก่อสร้าง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรอบโครงการให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งหลังจากการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนไปประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ เว็บไซต์ www.ทางแยกบางไทร-บางพูhttp://xn--q3c.com/ และเฟซบุ๊ก ทางแยกบางไทร-บางพูน หรือไลน์แอด @ทางแยกบางไทร-บางพูน (มี@นำ)
สมเกียรติ ทรัพย์เฉลิม หน.ข่าวภูมิภาค