เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ปราสาทบ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ นายตระการ ชาลี นายอำเภอห้วยทับทัน เป็นประธานเปิดงานสืบสานตำนานพันปีประเพณีไหว้พระธาตุตำบลปราสาท ประจำปี 2567 ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้สู่ชุมชน ในวันที่ 22-25 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีนายขยามร บุญเต็ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปราสาท และดร.กัลยาณี ธรรมจารีย์ นายกสมาคมส่งเสริมเครือข่ายการท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการอำเภอห้วยทับทัน ข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลปราสาท และประชาชนจาก 8 หมู่บ้านของตำบลปราสาท ร่วมในพิธีเปิดเป็นจำนวนมาก ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย การฟังพระธรรมเทศนาทุกคืนในเทศกาลวันมาฆบูชา กิจกรรมขบวนแห่พานไหว้พระธาตุ ขบวนแห่ข้าวจี่ ขบวนต้นเงินการทอดผ้าป่าสามัคคีข้าวเปลือก การแสดงศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น และการเวียนเทียนและจุดเทียน 1,250 เล่ม เพื่อถวายพระอรหันต์ในวันมาฆบูชา และชมการแสดงแสง สี เสียง วัฒนธรรมย้อนยุค ได้รับความเมมตาจากพระครูศรีปริยัติวงศ์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านปราสาท เป็นประธานฝายสงฆ์
นายขยามร บุญเต็ม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปราสาท กล่าวว่า พระธาตุหรือปราสาทบ้านปราสาท เป็นองค์ปราสาทสามยอด ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยม ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เป็นโบราณสถาน ที่มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ชาวตำบลปราสาทและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเชื่อว่า ปราสาท 3 องค์นี้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเมื่อปี พ.ศ.2551 กรมศิลปากรได้มาทำการขุดสำรวจบริเวณปราสาทและหลุมขุดนหลังองค์ปราสาท ในการขุดสำรวจได้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย เช่น เทวรูกำไสสำริด ลูกปะคำสีส้ม กระสุนดินปีน เม็ดพลอย โครงการกระดูกมนุษย์โบราณ ที่มีอายุราว 1,500-3,000 ปี ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ที่มีความลึก 7 เมตร และทับหลังจำนวน 4 ชิ้น ได้แก่ทับหลังบุคลทรงโคนนทิ ทับหลังหน้ากาลคล้ายท่อนพวงมาลัย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธิ์ และทับหลังกวนเกษียรสมุทร โดยเฉพาะทับหลังกวนเกษียรสมุทร ที่ขุดพบที่นี่ จะเหมือนกับทับหลังกวนเกษียรสมุทรที่โคปุระ ชั้นที่ 3 ของเขาพระวิหารคือจะมีภาชนะคล้ายโอ่งน้ำอยู่บนหลังเต่า จากการศึกษาและสำรวจของกรมศิลปากร จะไม่ปรากฏพบทับหลังลักษณะนี้ในที่ใดมาก่อนไม่ว่าจะเป็นใน*เทศไทย ประเทศกัมพูชา ประเทศลาว แต่ได้มาพบที่ปราสาทแห่งนี้ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าผู้ที่สร้างปราสาทบ้านปราสาท กับผู้ที่สร้างปราสาทเขาวิหารเป็นช่างสกุลเดียวกัน ปัจจุบันโบราณวัตถุที่ขุดพบ ถูกนำไปเก็บไว้ที่กรมศิลปากร ที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีในท้องถิ่น เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของโบราณสถานแห่งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้รับทราบว่า ปราสาทบ้านปราสาทเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงของอำเภอห้วยทับทันและจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศล อันจะเป็นบ่อเกิดแห่งความรัก ความสามัคคีและความศรัทธาที่จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป
************
ข่าว/ภาพ ... บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ