นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร ในฐานะหน่วยงานวิจัยหลักด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตรของประเทศไทย ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะ ให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ลดต้นทุนการผลิต แก้ไขปัญหาด้านแรงงานภาคเกษตร รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้ สร้างรายได้เพิ่มกับเกษตรกร ตามนโยบายการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี 2567 สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะอย่างง่าย สำหรับการปลูกพืชผักมีราคา ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา เพื่อแสดงถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรม ร่วมกับการทำเกษตรตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ประสานกันอย่างกลมกลืน ใช้แรงงานน้อยลง และเพิ่มคุณภาพของผลผลิต และปลอดสารพิษตกค้าง
นางสาวขนิษฐ์ หว่านณรงค์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวว่า สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม ได้ออกแบบโรงเรือนอัจฉริยะอย่าง่ายที่เหมาะสมกับเกษตรกร โดยโรงเรือนมีขนาดกว้าง 5.3 ยาว 18 เมตร สูงจากพื้นถึงคานบน 2.35 เมตร หลังคาพลาสติก ด้านข้างเปิดโล่ง หรือสามารถติดแสลนบังแสงและลมด้านข้างได้ เพื่อปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบน้ำนิ่งในกล่องโฟม วางโต๊ะปลูกขนาด 1x3 เมตร ได้ 10-15 โต๊ะ แต่ละโต๊ะวางกล่องโฟมปลูกผักขนาด 39x54x20 เซนติเมตร ได้ 10-12 กล่อง แต่ละกล่องสามารถปลูกได้ 6-8 ต้น โดยโรงเรือนสามารถปลูกผักได้ 600-1,440 ต้น
วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวต่อว่า ภายใต้หลังคาโรงเรือนได้ติดตั้งระบบตาข่ายพรางแสงอัตโนมัติ เพื่อลดความร้อนที่จะสัมผัสกับผักโดยตรง ควบคุมมอเตอร์พรางแสงด้วยบอร์ดสมองกลฝังตัว Arduino uno ซึ่งอ่านค่าอุณหภูมิจากเซนเซอร์ในโรงเรือน และประมวลผลทุก 3 นาที ถ้าอุณหภูมิของอากาศภายในโรงเรือนสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ตาข่ายพรางแสงจะทำงานอัตโนมัติ เขียนโปรแกรมควบคุมสมองกลด้วยภาษาที่ง่ายต่อการเรียนรู้ของเกษตรกร และได้ออกแบบให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับควบคุมการทำงานของมอเตอร์พรางแสง เพื่อประหยัดค่าใช้ไฟฟ้าและลดการเดินสายไฟมาที่แปลง และตั้งเวลานาฬิกาที่ใช้ ปิด-เปิด ระบบควบคุมเฉพาะช่วงเวลา 06.00-20.00 น. เพื่อประหยัดแบตเตอรี่
นางสาวขนิษฐ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจากการทดสอบปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบน้ำนิ่งในกล่องโฟม ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ย 30 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ย 58% ทดสอบปลูกผักสลัดสายพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ ผักกาดหอมอิตาลี บัตเตอร์เฮด กรีนคอส เรดคอส กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ฟินเลย์ รวม 480 ต้น พบว่า ผักมีอัตราการรอดหลังลงปลูกในกล่องโฟม 95.0% ได้ผลผลิตรวม 53.7 กิโลกรัม (ไม่รวมน้ำหนักราก) มีน้ำหนักเฉลี่ย 120.30 กรัม/ต้น ซึ่งการปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์แบบน้ำนิ่งในกล่องโฟม มีจุดเด่นคือใช้น้ำน้อยมาก ประมาณต้นละ 4-5 ลิตร ไม่ต้องใช้คนงานดูแลมาก โดยระหว่างการลงกล้าปลูกผักในกล่องโฟม จนถึงการเก็บผักเติมน้ำแค่ 2 ครั้ง คือ เติมน้ำผสมปุ๋ยราว 2-3 สัปดาห์หลังลงกล้า และเติมน้ำเปล่าอีกประมาณ 4 สัปดาห์หลังลงกล้า โดยไม่ใช้สารเคมีเลย วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กล่าวด้วยว่า หากเกษตรกรที่มีโรงเรือนอยู่แล้วต้องการใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติ จะต้องเสียค่าวัสดุทำตู้ควบคุมราคาประมาณ 5,000 บาท และวัสดุสำหรับม่านพรางแสงที่ควบคุมด้วยมอเตอร์ประมาณ 10,000 บาท โรงเรือนผักอัจฉริยะพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ถือเป็นนวัตกรรมทางด้านเกษตรอัจฉริยะเพราะใช้ทั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ สมองกลฝังตัว และพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ไฟฟ้ากระแสตรง ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร โทรศัพท์ 0-2940-5790 และ 08-9154-3256.