ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
กรมประมง...พร้อมรับมือภัยแล้งด้านประมง ปี 67
14 มี.ค. 2567

         กรมประมงดำเนินการวางแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งด้านประมง ประจำปี 2567 มุ่งสร้างการรับรู้ ป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อาจได้รับผลกระทบให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

         นายมานพ หนูสอน รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติด้านประมง ว่า...ด้วยขณะนี้ประเทศไทย ได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ทำให้ในช่วงเวลากลางวันอุณหภูมิสูงขึ้นและอากาศร้อนจัด ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลง ส่งผลให้สัตว์น้ำทั้งที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และที่เกษตรกรเลี้ยงในบ่อดินรวมถึงในกระชัง ปรับตัวไม่ทัน เกิดความเครียด อ่อนแอ ป่วย และตายได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรมประมง จึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2567 โดยมีการวางแผนการให้ความช่วยเหลือไว้ 3 ระยะ คือ 1.การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2.การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3.การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
         ทั้งนี้ กรมประมง ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน รวมถึงสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแล้งด้านประมง พร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวัง หมั่นดูแลสัตว์น้ำและปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ขอแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้
         การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน 
         1. ควรปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
         2. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ
         3. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับความพร้อมของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งชนิด ฤดูกาล สภาพภูมิอากาศ และเหตุการณ์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความต้องการพันธุ์สัตว์น้ำ
         4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
         5. วางแผนการสำรองแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเก็บรักษาพ่อแม่สัตว์น้ำ ตลอดช่วงฤดูแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
         6. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ป้องกันการรั่วซึม หรือจัดทำร่มเงาให้กับบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
         7. ควรเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ลงเลี้ยง และปรับจำนวนอัตราการปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง
         8. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมาะสม
         9. ลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
         10. ควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
         11. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก เนื่องจากมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
         12. หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขทันที กรณีมีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
         กรณีที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง 
         1. ควรปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป
         2. ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในกระชัง
         3. วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับความพร้อมของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งชนิด ฤดูกาลสภาพภูมิอากาศ และเหตุการณ์ซึ่งมีอิทธิพลต่อความต้องการพันธุ์สัตว์น้ำ 
         4. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
         5. ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังที่มีระดับความลึกเพียงพอ เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทได้สะดวก
         6. ควรจัดวางกระชังให้เหมาะสม ไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากเกินไป เพราะจะไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำ
         7. ควรเลือกปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ลงเลี้ยง และปรับจำนวนอัตราการปล่อยสัตวน้ำลงเลี้ยงในปริมาณหนาแน่นน้อยกว่าปกติ เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง ก่อนปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงเลี้ยงในกระชัง ควรปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะคุณสมบัติของน้ำในภาชนะลำเลียงสัตว์น้ำให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับพื้นที่ในการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น อุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นต้น
         8. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมาะสม
         9. ลดปริมาณอาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย
         10. ควรเพิ่มความสนใจ สังเกตอาการต่าง ๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้ทันท่วงที
         11. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค นอกจากนี้ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ
         12. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง
         13. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบสิ่งผิดปกติให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขในทันทีในขณะเดียวกันควรแจ้งให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค กรณีที่มีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณบ่อที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว 
         สำหรับโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง นั้นมีหลายสาเหตุ เนื่องจากในช่วงฤดูแล้งสภาพแวดล้อม เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตและเพิ่มจำนวนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในสัตว์น้ำหลายชนิด หากสัตว์น้ำมีสุขภาพไม่แข็งแรงอาจทำให้ติดเชื้อและเกิดโรคสัตว์น้ำได้ โดยโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่
         1. โรคที่เกิดจากปรสิต ได้แก่ เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา หมัดปลา เป็นต้น สัตว์น้ำที่เป็นโรคที่เกิดจากปรสิตจะมีลักษณะอาการว่ายน้ำผิดปกติ ว่ายน้ำถูตามข้างบ่อ ลอยตัวที่ผิวน้ำ หายใจถี่เร็วกว่าปกติ กินอาหารน้อยลง ขับเมือกมาก มีจุดแดงหรือมีแผลถลอกตามผิวลำตัว โดยโรคจากปรสิตสามารถควบคุมได้ โดยการตัดวงจรของปรสิต (รักษาความสะอาด กำจัดตะกอน เศษอาหาร) ควบคู่กับการควบคุมคุณภาพน้ำ และการใช้สารเคมี (ขึ้นอยู่กับชนิดและลักษณะการก่อให้เกิดโรคของปรสิต)
         2. โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรีย เช่น โรคตัวด่าง โรคแผลตามลำตัว โรคสเตรปโตคอคคัส เป็นต้น ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มแบคทีเรียฉวยโอกาส ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วไป โดยจะเข้าทำอันตรายต่อสัตว์น้ำ เมื่อสัตว์น้ำอ่อนแอ
            - โรคตัวด่าง มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Flavobacterium columnare ลักษณะอาการที่พบคือ ผิวหนังบวมแดง แผลด่างตามลำตัวและเหงือก มักเกิดกับปลาในช่วงย้ายบ่อ ระหว่างการลำเลียง หรือการขนส่งปลาและช่วงที่อุณหภูมิในรอบวันมีการเปลี่ยนแปลงมาก ถ้าเกิดปลาขนาดเล็กอาจตายภายใน 1 - 2 วัน แนวทางการป้องกันรักษา คือ ปรับปรุงคุณภาพให้เหมาะสม ลดปริมาณสารอินทรีย์ ภายในบ่อเลี้ยง ลดความเครียด ระหว่างการขนส่ง โดยใช้เกลือแกง 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ตัน (0.1 เปอร์เซ็นต์) และการรักษาใช้ด่างทับทิม 1 - 3 กรัม ต่อน้ำ 1 ตัน แช่นาน 24 ชั่วโมงหรือฟอร์มาลีน 40 - 50 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 1 ตัน แช่นาน 24 ชั่วโมง หรือใช้ยาต้านจุลชีพตามคำแนะนำของสัตว์แพทย์
           - โรคแผลตามลำตัว มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas sp. หรือ Pseudomonas sp. ลักษณะอาการที่พบ คือ ตกเลือดบริเวณลำตัว/ครีบ ผิวตัวเปื่อย ครีบกร่อน เกล็ดตั้ง ท้องบวม มักพบในบ่อที่มีการจัดการเลี้ยงที่ไม่เหมาะสม เลี้ยงสัตว์น้ำที่ความหนาแน่นสูง แนวทางป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสมลดอัตราความหนาแน่นสัตว์น้ำ หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
          - โรคสเตรปโตคอคคัส มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus agalactiae ลักษณะอาการที่พบ คือว่ายน้ำควงสว่าน ตาโปน ตาขุ่น ตกเลือดตามลำตัว หากไม่ได้รับการรักษาจะมีอัตราการตาย 50 - 100 เปอร์เซ็นต์ โรคดังกล่าวจะมีความรุนแรงในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะในปลานิล เกิดกับปลาได้ทุกขนาด แนวทางในการป้องกันรักษา คือ จัดการการเลี้ยงให้เหมาะสม หรือใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
         รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า...ขอเน้นย้ำให้เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด /สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรชาวประมง กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2558 0218 และ 0 2561 4740

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...