นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจราชการก่อนการประชุม ครม. นอกสถานที่พื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่ม พืชสมุนไพร เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทยตามเป้าหมาย 13 Quick Win
ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูงในภูมิภาคอาเซียน ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชน
นายสันติ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีหน่วยงานส่วนภูมิภาคในพื้นที่เชียงรายคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย ซึ่งรับผิดชอบการให้บริการตรวจวิเคราะห์วิจัยในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 ประกอบไปด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ดำเนินงานสนับสนุนงานสาธารณสุขหลายเรื่อง โดยมีห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ มีห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยตรวจคัดกรองทารกแรกเกิด สามารถตรวจคัดกรองโรคหายากจำนวน 40 โรค และด้านคุ้มครองผู้บริโภค มีห้องปฏิบัติการตรวจเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ได้ถึง 132 ชนิด
โดย จ.เชียงรายมีด่านนำเข้าสินค้าหลายด่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านนำเข้าอาหารและยาเชียงของ มีมูลค่าการนำเข้าผักและผลไม้สดมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งมีปริมาณนำเข้าปีละ 20,888 ตัน รองจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคในประเทศไทยจึงพร้อมสนับสนุนให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย พัฒนาขีดความสามารถทางห้องปฏิบัติการให้ได้ 250 ชนิด และผลักดันเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็กแบบครบวงจร ในเขตสุขภาพที่ 1 โซนภาคเหนือ
"ได้เปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน เพื่อให้ภาครัฐและภาคเอกชน อสม.ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์กับเครือข่ายในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลการดำเนินงานของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และเครือข่าย อาทิ การวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็ก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test การตรวจสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME และมอบผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงแก่ อสม. จำนวน 1,000 ชุด "
สำหรับการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลแม่ใจ จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดกลาง จำนวนเตียงตามกรอบ 30 เตียง ให้บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 249 คนต่อวัน มีความโดดเด่นในการดำเนินงานการแพทย์แผนไทยและโรงงานผลิตสมุนไพร ที่ได้พัฒนางานด้านการผลิตยาสมุนไพรร่วมกับชุมชน ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพสำหรับใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการในเครือข่ายสาธารณสุขของ จ.พะเยา พร้อมกับพัฒนาส่งเสริมเครือข่ายกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูก - ผลิตสมุนไพรใน อ.แม่ใจ และอำเภออื่น ๆ ของจังหวัดในการปลูก - ผลิตสมุนไพรที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ รวมถึงเป็นการผลิตวัตถุดิบในการผลิตยาสมุนไพรที่มีคุณภาพการผลิตยาสมุนไพรของโรงพยาบาลแม่ใจ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตยาสมุนพรที่ดี จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขและได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตยาสมุนไพรสำหรับใช้ในระบบการรักษาผู้ป่วยของภาครัฐ ทั้งในระดับโรงพยาบาลและระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในเขตบริการสุขภาพ ที่ 1 โดยผลิตสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 26 รายการ
นอกจากนี้โรงพยาบาลแม่ใจ ยังดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยให้บริการ "ศูนย์สุขภาพแผนไทย โรงพยาบาลแม่ใจ" และ"การนวดวิถีไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร GMP ใช้วัตถุดิบจากชุมชนต้นน้ำกว้าน" ซึ่งเน้นการบริการด้านการนวดเชิงสุขภาพ และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้วัตถุดิบสมุนไพรจากพื้นที่ ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลแม่ใจเป็นโรงพยาบาลและพื้นที่ต้นแบบด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Health Literacy) และได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านผ่านมาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ระดับดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังได้รางวัลชมเชยโรงงานผลิตยาสมุนไพรดีเด่นระดับชาติ ประเภทโรงพยาบาล
หลังจากนั้นได้ลงพื้นที่ไปยังโรงพยาบาลพะเยา เพื่อติตามการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด จ.พะเยา การดำเนินงานโรงพยาบาลอัจฉริยะรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระบบการแพทย์ฉุกเฉินการช่วยเหลืออุบัติเหตุทางน้ำจังหวัดพะเยาและการดำเนินงานการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5