จากกรณีนายมานชัย วัฒนการัณย์ และนายศราวุธ ไทรสังข์สิริพงศ์ ชาวอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ค้นพบอุโมงค์ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่บ้านซองกาเลีย หมู่ 8 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นวันที่ 31 มี.ค.67 ทั้งสองได้นำพาสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจเพื่อช่วยกันประชาสัมพันธ์ผลักดันให้เป้นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอสังขละบุรี
ซึ่งจากการสำรวจในวันดังกล่าวพบว่า บริเวณปากอุโมงค์ค่อนข้างคับแคบต้องก้มตัวเดินเข้าไปอย่างช้าๆ แต่เมื่อเข้าไปได้พบตัวอุโมงค์กว้างประมาณ 2 เมตร สูง 1.80-1.90 เมตร ระยะทางจากปากอุโมงค์ถึงปลายอุโมงค์ยาวประมาณ 35 เมตร อากาศภายในค่อนข้างเย็นสบายอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 20-25 องศาฯ สภาพของอุโมงค์โดยรวมค่อนข้างสมบูรณ์ มีเพียงร่องรอยดินถล่มลงมาบริเวณปากอุโมงค์และท้ายอุโมงค์เท่านั้น หลังจากที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวออกไปก็ได้รับความสนใจจากสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก
ล่าสุดวันนี้ 3 เม.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาย จุมเปย์ ทานะกะ (JUMPEI TANAKA) ผู้สื่อข่าวช่อง Nippon TV ทีวีอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น คุณชลันลักษณ์ จันทร์วันเพ็ญ ผู้สื่อข่าว Nippon tv ประจำประเทศไทย และทีมงาน ได้เดินทางมาถ่ายทำบรรยากาศทั้งภายนอกและภายในอุโมงค์ดังกล่าว โดยมีนายศุภชัย พลทิพย์ หรือนักข่าวกลางดง พร้อมด้วยนายมานชัย วัฒนการัณย์ และนายศราวุธ ไทรสังข์สิริพงศ์ ชาวอำเภอสังขละบุรี นำพาทีมงานไปถ่ายทำรายการอย่างละเอียด
นอกจากถ่ายทำที่อุโมงค์สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วส่งทีมงาน Nippon TV ลงในพื้นที่ และยังได้ไปถ่ายทำสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีก 4 จุดคือ ร่องรอยรางรถไฟสายมรณะ ที่อยู่บริเวณหัวสนามบิน(สนามบินเดิม) ตั้งอยู่ริมถนนสาย 323 หมู่ 8 บ้านซองกาเลีย บริเวณตอม่อสะพานที่อยู่บริเวณจุดเล่นน้ำลำห้วยซองกาเลีย รวมทั้งบริเวณบ่อน้ำเติมหัวจักรรถไฟที่อยู่ท่าน้ำกลางหมู่บ้านซองกาเลียด้านหลังโรงเรียนบ้านซองกาเลีย และถ่ายทำที่บริเวณสถานที่เก็บปูนซีเมนต์ หลุมระเบิดทางรถไฟ ที่อยู่ภายในสวนยางพารา ของชาวบ้านในพื้นที่บ้านซองกาเลีย ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงสาย 323 สายซองกาเลีย-บ้านพระเจดีย์สามองค์
ทั้งนี้นาย จุมเปย์ ทานะกะ (JUMPEI TANAKA) พิธีการรายงานข่าวช่อง Nippon TV ได้เปิดเผยเป็นภาษาญี่ปุ่นผ่านคุณชลันลักษณ์ จันทร์วันเพ็ญผู้สื่อข่าว Nippon tv ประจำประเทศไทย ว่าเขาไม่คิดว่าจะมีซากที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่สองเหลือในอยู่พื้นที่แห่งนี้เยอะขนาดนี้ และคนญี่ปุ่นในสมัยนี้ไม่ได้คิดว่าประเทศไทยจะมีส่วนในการที่ทหารของญี่ปุ่นเข้ามาทำอะไรแบบนี้มาก่อน
แต่เมื่อได้มาถ่ายทำแล้วเขาจึงต้องการให้คนญี่ปุ่นทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่าได้เห็นประวัติศาสตร์ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองทหารญี่ปุ่น เคยทำอะไรเอาไว้และเผลอๆอาจจะทำอะไรที่แย่กว่านี้ก็ได้ ก็หวังว่าการมาถ่ายทำในครั้งนี้จะสามารถสื่อสารอะไรบางอย่างไปถึงชาวญี่ปุ่นได้บ้าง
////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ - รายงาน