ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
กาญจนบุรี - ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ ยันโครงการอุโมงค์ผันน้ำผ่าป่า ขสป.สลักพระ
11 เม.ย. 2567

ไม่กระตุ้นการเกิดแผ่นดินไหว ด้วยเหตุผล 4 ประการ ชี้เป็นโครงการที่ดี ส่วนกรมชลประทานเตรียมเดินสายประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ 4 อำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมก่อสร้างโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ประชาชน 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ประกอบด้วย อ.บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน โดยมีแผนก่อสร้างโครงการ 4 ระยะ ประกอบด้วย 

 ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้ภูเขาที่ระดับเฉลี่ย 500 เมตรจากผิวดิน ไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร อัตราผันน้ำวันละ 1.036 ล้าน ลบ.ม. มีอาคารประกอบ ได้แก่ อาคารรับน้ำ และอาคารจ่ายน้ำ ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู  ถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 14.195 กิโลเมตร 

 ระยะที่ 3 โครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำหลุมรังขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้าน ลบ.ม. และระยะที่ 4 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วยคลองสายหลักเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 94.165 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ระยะทางรวมกัน 314 กิโลเมตร  ระยะก่อสร้างโครงการ 5 ปี (พ.ศ.2568-2572)ด้วยงบประมาณ 12,007.96 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและยืนยันว่าจะคัดค้านตลอดไป เนื่องจากเส้นทางเลือกการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ไปช่วยภัยแล้ง 5 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี มี 7 ทางเลือกหลัก 11 ทางเลือกย่อย มูลนิธิสืบนาคาเสถียรจึงไม่เห็นด้วยกับการที่ กรมชลประทาน และ สทนช.จะดำเนินการก่อสร้างสร้างเจาะอุโมงค์ผันน้ำผ่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตามเส้นทางเลือกที่ 1 โดยให้บริษัทที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการพิจารณาแนวทางเลือกอื่นที่อ้อมลงด้านล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าและชุมชนโดยรอบให้มากที่สุด

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นข้อห่วงใยของประชาชนและเกิดคำถามขึ้นมาว่า การขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไปบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 5 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี ขนาด 4.20 เมตร ที่ความลึกจากผิวดินเฉลี่ย 500 เมตร ระยะทาง 20.500 กิโลเมตร จะไปกระตุ้นให้รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ขยายตัวแล้วเกิดแผ่นดินไหวตามมาในภายหลังหรือไม่นั้น


ล่าสุดวันนี้ 11 เม.ย.67 อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีศาสตร์ และที่ปรึกษารองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้ออกมากล่าวถึงประเด็นข้อห่วงใยดังกล่าวว่า ธรรมชาติของกลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ที่วางตัวอยู่ในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูล (GPS) ที่แสดงการเคลื่อนตัวของพื้นผิวโลกในภูมิภาคพบว่ามีการเคลื่อนตัวน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของภูมิภาค ตามความยาวลูกศรในแผนที่ 

 นอกจากนั้น ส่วนต่อเนื่องของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ในบริเวณอ่าวไทยยังถูกตัดผ่านด้วยรอยเลื่อนระนองที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้  ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจากรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่ จังหวัดกาญจนบุรีมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ

สำหรับความกังวลว่าโครงการเจาะอุโมงค์ผันน้ำไปใช้ในเขตพื้นที่แห้งแล้งมากของจังหวัด เช่น บ่อพลอย ห้วยกระเจา เลาขวัญ หนองปรือ และพนมทวน จะเป็นการกระตุ้นหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้นหรือไม่นั้น ที่ผ่านมาผมได้ศึกษาค้นคว้ารอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ มาอย่างยาวนานและต่อเนื่องกันหลายปี จึงมั่นใจและเชื่อได้ว่าการขุดเจาะอุโมงค์บริเวณดังกล่าวไม่กระตุ้นหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวตามที่มีข้อกังวลอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ (1) แนวอุโมงค์ส่งน้ำส่วนใหญ่ เกือบทั้งหมดวางตัวในแนว ตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออก-ตะวันตก เพื่อส่งน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เข้าพื้นที่ฝั่งตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดกาญจนบุรี

(2) พื้นที่อุโมงค์วางตัวห่างออกไปในด้านตะวันออกของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์  (3)เป็นพื้นที่ๆมีความเสถียร หรือเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวต่ำของจังหวัดกาญจนบุรี และ (4) น้ำหนักท่อและน้ำหนักน้ำในอุโมงค์และในท่อมีการกระจายตัว มวลน้ำขนาดใหญ่ไม่ได้กดทับที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลแต่อย่างใด

สำหรับ โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ประชาชน 5 อำเภอ จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากมาอย่างยาวนานนั้น ถือว่าเป็นโครงการที่ดีมากเลยทีเดียว”อาจารย์ ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล กล่าว

ส่วนทาง กรมชลประทาน ร่วมกับ กิจการร่วมค้า PFWFT JV จัดให้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 23-26 เมษายน พ.ศ. 2567 จำนวน 6 เวที ดังนี้
วันอังคารที่ 23 เม.ย. 2567 เวลา 08.30 - 12.00 น. บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี 
วันพุธที่ 24 เม.ย. 2567 เวลา 08.30 – 12.00 น. บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอห้วยกระเจา อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี
วันพฤหัสบดี ที่ 25 เม.ย. 2567 เวลา  08.30 - 12.00 น. บริเวณหอประชุมพลอยไพลิน เทศบาลตำบลบ่อพลอย อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
วันพฤหัสบดี ที่ 25 เม.ย. 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. บริเวณหอประชุมพลอยไพลิน เทศบาล อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี 
วันศุกร์ที่ 26 เม.ย. 2567 เวลา 08.30 – 12.00 น. บริเวณศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
และวันศุกร์ที่ 26 เม.ย. 2567 เวลา 13.00 – 16.001 น. บริเวณศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอเลาขวัญ อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

สำหรับที่อำเภอบ่อพลอย กับ อำเภอเลาขวัญ ทางกรมชลประทาน พร้อมคณะได้จัดเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้า กับ บ่าย เชิญผู้นำท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจสะดวกช่วงใดของแต่ละพื้นที่ สามารถร่วมเข้ารับฟังการประชุมกลุ่มย่อยได้ตามสถานที่แจ้งข้างต้นนี้
   ////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา   ไหลวารินทร์ - รายงาน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...