ที่บริเวณวัดโขงเจียมและลานชมจันทร์ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม นำทีมนักวิจัย ภายใต้โครงการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” โดยกองทุนส่งเสริมแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับ อำเภอโขงเจียม เทศบาลตำบลบ้านด่านโขงเจียม ชมรมท่องเที่ยวและอนุรักษ์โขงเจียม ผู้ประกอบการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ตำรวจภูธรอำเภอโขงเจียม และส่วนราชการท้องถิ่นในอำเภอโขงเจียม จัดงานประเพณีสงกรานต์ “ม่วนซื่น ชื่นบาน สงกรานต์แสงแรก@โขงเจียม” โดยมี นายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน และ นายอมร พรมสอน นายอำเภอโขงเจียม กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ การจัดงานครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมของอำเภอโขงเจียมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ผ่านกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ของไทย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายเกิดเงินสะพัดในพื้นที่อำเภอโขงเจียม และร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามและส่งเสริมความรักความสามัคคี สร้างสำนึกรักษ์บ้านเกิด ศาสตราจารย์ ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ เป็นกิจกรรมที่สะท้อนความงดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร ความสนุกสนานและการให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งยูเนสโกยังได้ประกาศให้ประเพณีสงกรานต์ของไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยการจัดงานมหาสงกรานต์ “ม่วนซื่น ชื่นบาน สงกรานต์แสงแรก@โขงเจียม” การลงพื้นที่ทีมนักวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ที่ 4 ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการอนุรักษ์ สืบสานและสร้างมูลค่าให้แก่ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ในการอนุรักษ์สืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืนครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากความสามัคคีของภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ชุมชนและท้องถิ่น อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ร่วมกันจัดงานประเพณีจนสำเร็จบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ และได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมากที่เข้าร่วมกิจกรรมเล่นน้ำบนถนนสายน้ำและชมขบวนแห่พระพุทธรูปและขบวนแห่นางสงกรานต์ของคุ้มต่าง ๆ การสรงน้ำพระพุทธรูปในรูปแบบฮางฮด การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ การทำบุญตักบาตร การประกวดก่อเจดีย์ทราย การประกวดร้องลำทำนองไทอีสาน (ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา) การประกวดซุ้มน้ำ การแสดงรำวงเปลี่ยนคู่ของภาคีเครือข่ายนางรำบ้านห้วยไผ่ รำวงย้อนยุคของกลุ่มสาวน้อยสองสี คอนเสิร์ต “ม่วนชื่น ชื่นบาน รำวงย้อนยุค” การแสดงจากวงดนตรีต่าง ๆ การออกร้านจำหน่ายอาหารเครื่องดื่มและสินค้าที่ระลึกที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน เป็นอีกมิติการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นต้นทุนที่ทรงคุณค่าของพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอำเภอโขงเจียม ผ่านประเพณีสงกรานต์ ด้วยพลังความร่วมแรงร่วมใจจากภาคีเครือข่ายและหลายภาคส่วน จากความเชื่อมั่นว่า อำเภอโขงเจียมยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ด้วยทรัพยากรการท่องเที่ยวที่ล้ำค่า ทั้งทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ที่ยังเป็นมนต์เสน่ห์ หากหลายภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามายังพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากต้นทุนของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมร่วมกันสืบไป
///////////////////////////////////////////////////////////