นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อัญชัน เป็นพืชที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงสายตา ลดน้ำตาลในเลือด เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย และที่สำคัญคือมีสารสำคัญที่มีสรรพคุณทางการแพทย์ อาทิ สารแอนโทไซยานิน สารแอนโทไซยานิน มีสรรพคุณในด้านกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ได้เป็นอย่างดีคนไทยใช้ประโยชน์จากอัญชัน ในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้เป็นสีผสมอาหาร ใช้ทำเครื่องดื่ม ใช้บำรุงเส้นผม ฯ จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประจำบ้าน
กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำวิธีการขยายพันธุ์อัญชัน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด โดยนำเมล็ดอัญชันแช่ในน้ำสะอาดทิ้งไว้ 12-24 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดนำเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำ ไปบ่มต่อในผ้าขาวบางชุบน้ำหมาด ๆ และเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด นาน 24 ชั่วโมง สังเกตได้ว่าเมล็ดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วนำเมล็ดไปเพาะในภาชนะเพาะ โดยใช้วัสดุปลูกเป็นพีทมอส หรือดินผสม ได้แก่ พีทมอส แกลบดำ และขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำใส่ในภาชนะเพาะ เช่น ถาดหลุม ขนาดไม่เกิน 104 หลุม หรือถุงเพาะชำ ขนาด 2.5 x 6 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม หยอดเมล็ดลงในถาดหลุมหรือถุงเพาะชำ หลุมละ 2-3 เมล็ด แล้วกลบวัสดุปลูกทับบาง ๆ รดน้ำอีกครั้ง และควรรดน้ำทุกวันจนกระทั่งกล้ามีใบจริง 2 ใบ จึงย้ายลงแปลงปลูก
วิธีการที่สอง คือ การปักชำ โดยตัดกิ่งอัญชันที่มีลักษณะไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป ไม่มีโรคและแมลงรบกวน ความยาวไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร ให้มีข้อตาไม่น้อยกว่า 4-5 ข้อตา แล้วตัดแต่งใบ โดยลิดใบล่างทิ้ง ส่วนใบด้านบนตัดให้เหลือครึ่งใบ นำกิ่งที่ตัดแต่งแล้วไปแช่ในสารเร่งราก และสารป้องกันกำจัดเชื้อรา นาน 20 นาที ก่อนปักชำนำขึ้นมาผึ่งไว้ให้แห้ง เตรียมวัสดุเพาะชำ ได้แก่ หน้าดิน แกลบดำ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:1:1:0.5 คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำใส่ในถุงเพาะชำสีดำ ขนาด 2.5×6 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม นำกิ่งที่แช่สารเร่งรากและสารป้องกันกำจัดเชื้อราแล้ว มาปักลงในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ โดยให้ส่วนที่ปักลงในวัสดุปลูกมีข้อตาติดอยู่ 1-2 ข้อตา นำถุงเพาะชำที่ปักชำกิ่งอัญชันแล้วมาใส่ใน ถุงพลาสติกขนาด 20×30 เซนติเมตร แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปวางไว้ในที่ร่มรำไร หรือเรือนเพาะชำ หมั่นสำรวจไม่ให้ถุงขาด และเมื่อครบ 1 เดือน จึงเปิดปากถุงเพื่อให้อากาศและให้ต้นอัญชันปรับตัว ประมาณ 5-7 วัน จากนั้นจึงนำต้นอัญชันออกมาดูแลรักษาต่ออีกประมาณ 7-14 วัน จึงนำลงแปลงปลูกได้
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับอัญชันพันธุ์ดีที่ กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ คือ อัญชัน พันธุ์ “เทพรัตนไพลิน 63” เป็นพืชที่ถูกวิจัยปรับปรุงพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตร โดยมีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตดอกสดต่อไร่สูง เฉลี่ย 2,122 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่าพันธุ์ทั่วไปประมาณ 6 วัน และมีปริมาณแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) รวมมากกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักกลีบดอกสด 100 กรัม ด้วยคุณลักษณะและประโยชน์ด้านการแพทย์ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ได้ดำเนินการนำอัญชัน พันธุ์ “เทพรัตนไพลิน 63” มาเพาะขยายพันธุ์ให้แก่เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าถึงอัญชัน “เทพรัตนไพลิน 63” โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จุดบริการพืชพันธุ์ DOAE ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่เลขที่ 99/1 หมู่ 5 ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65230 โทรศัพท์ 055 – 906 – 220 หรือต้องการสั่งซื้อพันธุ์พืชชนิดอื่นได้ผ่านช่องทาง “DOAE Marketplace” ทางเว็บไซต์ http://www.doae.go.th/doae_marketplace ทั้งนี้ รายได้จากการจำหน่ายพันธุ์พืช พืชผล ผลิตผล และผลพลอยได้ รวมถึงการใช้จ่ายเงินรายได้ จากการจำหน่ายพันธุ์พืช จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมด้านการเกษตรตามระเบียบกรมส่งเสริมการเกษตร ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินรายได้จากการดำเนินงานส่งเสริมด้านการเกษตร พ.ศ. 2562