รัฐบาลเตือนประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ จากสภาพอากาศที่ยังร้อนจัด แนะกลุ่มเสี่ยง เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งช่วงที่อากาศร้อนจัด เน้นดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ลดความเสี่ยงฮีทสโตรก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดต่อเนื่อง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 1 พฤษภาคม 2567 ระบุว่า ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ตลอดช่วง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด โดยหลีกเลี่ยงการทำงานหรือกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน ตลอดช่วง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข ก็ได้ออกมาย้ำคำเตือน แนะนำให้ประชาชนดูแลสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนจัดในช่วงนี้ เพื่อลดความเสี่ยงอาจป่วยด้วยโรคลมร้อน (Heat stroke) ที่อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อมูลกรมอนามัยระบุว่า ในช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนสุด ๆ จะยิ่งทำให้เรากระหายน้ำมากขึ้น ซึ่งน้ำดื่มที่ดีที่สุดคือน้ำเปล่าสะอาด โดยไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องชูกำลัง ชา กาแฟ น้ำอัดลม อีกทั้งไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนกลางวันอากาศร้อนจัด เสี่ยงต่อการป่วยจากความร้อนได้ และการดื่มน้ำให้เพียงพอจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในช่วงสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยกรมอนามัยมีวิธีสังเกตจากสีของปัสสาวะให้ทุกคนไปลองเช็คตัวเอง คือ สีเหลืองอ่อน = ดื่มน้ำอย่างเพียงพอแล้ว/เริ่มมีสีเหลืองเข้ม = ร่างกายเริ่มขาดน้ำ ควรดื่มน้ำมากขึ้น/สีเหลืองเข้ม = ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำบ่อย ๆ /สีเหลืองเข้มจัดอมส้มเข้ม = ร่างกายขาดน้ำรุนแรง ควรดื่มน้ำทันที อย่างไรก็ตาม กรมอนามัยแนะนำว่าไม่ว่าสภาพอากาศแบบใด ทุกคนก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอหรือประมาณ 8-10 แก้วต่อวัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ขณะที่โฆษกกรมควบคุมโรค ได้เผยข้อมูลสถานการณ์โรคลมร้อน (Heat stroke) ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 ระบุว่า เพียง 2 เดือน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 30 ราย เทียบปี 2566 ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 4 เดือนเสียชีวิต 37 ราย โดยปีนี้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 เท่า สำหรับโรคฮีทสโตรก เกิดจากภาวะร่างกายร้อนจัดจนส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาล เนื่องจากระบบระบายอากาศในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ กลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง ทหาร ตำรวจ และ รปภ. เป็นต้น จึงแนะนำให้ควรลดกิจกรรมช่วงเวลา 11.00 น. ไปจนถึง 15.00 น. หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าต้องออกไปข้างนอก ให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ ทุกชั่วโมง เสียเหงื่อมากดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้น ให้หลีกเลี่ยงช่วงอากาศร้อนจัด สวมเสื้อผ้าระบายความร้อน ระบายอากาศได้ดี มีสีอ่อน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสังเกตอาการได้ หากหน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว ใจสั่น หน้าแดง เหงื่อไม่ค่อยออก เป็นอาการเตือนความเสี่ยงฮีทสโตรก ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น รีบพาเข้าพักในที่อุณหภูมิเย็น อากาศถ่ายเท ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกพับ หน้าผาก คลายเสื้อผ้า ดื่มน้ำถ้ายังมีสติ ถ้าไม่มีน้ำเย็นให้ดื่มน้ำธรรมดาเพื่อระบายความร้อน ถ้าหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
“รัฐบาลโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุข ห่วงใยสุขภาพประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ที่ทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสาร ทำตามคำแนะนำของทางราชการ ย้ำว่าให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ รวมทั้งลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานาน ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี รวมไปถึงออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับร่างกาย ไม่หักโหมเกินไป ระวังอาการฮีทสโตรก และห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10-20 นาที” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว