“พัชรวาท” ห่วงร้อนทะลุปรอท สั่งเตรียมรับมือลดผลกระทบในอนาคตทั้งระยะสั้น-ระยะยาว กรม สส. เร่งบูรณาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิ 6 ด้าน ครอบคลุมทุกมิติ
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเป็นห่วงประชาชนจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะปีนี้ที่ร้อนและแล้งหนัก และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมการรับมือให้เท่าทันต่อวิกฤตโลกเดือด
ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยของไทย ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลก และจากที่ประชุม COP28 แสดงให้เห็นว่า ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกประเทศที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 2.4 – 2.7 องศาเซลเซียส ในปี พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกับศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (RU-CORE) ที่มีการคาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นไปถึง 2 - 3 องศาเซลเซียสในปลายศตวรรษนี้ หากการลดก๊าซเรือนกระจกของโลกยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
“ในมุมของการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่ท้าทายและเร่งขับเคลื่อนอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ทั้งพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรมและกระบวนการผลิต เกษตรและของเสีย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 30-40 ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือเป้าหมายระยะยาวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608” ดร.พิรุณ กล่าว
ดร. พิรุณ ยังกล่าวถึง การเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระบบอากาศ ที่มีปัจจัยความเสี่ยงทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้น ทั้งการรับมือแบบรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เช่น การแจ้งเตือนภัยความร้อนล่วงหน้า การเตรียมความพร้อมอพยพประชาชน และการเตรียมความพร้อมรับมือในระยะยาว ทั้งการบริหารความเสี่ยงของภัยที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวทางระบบนิเวศและธรรมชาติเป็นฐาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง
ดร. พิรุณ เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างบูรณาการดำเนินการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าสู่ 6 สาขา ได้แก่ 1.สาขาการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นมิติการเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ ลดความสูญเสียและเสียหายจากภัยพิบัติจากน้ำ 2.สาขาเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3. สาขาการท่องเที่ยว ในมิติการจัดการความเสี่ยงและการเพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยว 4.สาขาสาธารณสุข ในมิติระบบสาธารณสุขที่สามารถจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบต่อสุขภาพ
5.สาขาการจัดการทรัพยากร ในมิติการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และ 6.สาขาการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ ในมิติของประชาชน ชุมชนและเมือง ที่มีความพร้อมและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงและผลกระทบอย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันในทุกมิติ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้และให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว