นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาภาคเกษตรที่ผ่านมา มุ่งเน้นที่การส่งเสริมการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นหลัก มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัด เพื่อให้มีผลตอบแทนสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงสมดุลธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ส่งผลให้สภาพแวดล้อมในปัจจุบันประสบปัญหาสารพิษตกค้างจำนวนมาก เกิดผลเป็นวงกว้าง เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ปัญหาด้านสุขภาพของผู้ผลิตและผู้บริโภค และปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากการใช้สารเคมี อย่างไรก็ตาม หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงปัญหาการพัฒนาการเกษตรที่ผ่านมา ทำให้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของเกษตรกรรมทางเลือก ที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนให้กับเกษตรกรและภาคการเกษตรทั้งระบบ เป็นระบบการเกษตรที่คำนึงถึงสมดุลสิ่งแวดล้อม รวมถึงความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น
ดังนั้น ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ปี พ.ศ.2560-2564 ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเป็น 5 ล้านไร่ ในปี พ.ศ.2564 ซึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ 5 ล้านไร่ จำเป็นต้องมีการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงเครือข่าย ภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการขยายผลการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนในทุกมิติที่จะก่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในภาพรวม ซึ่งต้องกำหนดแนวทางให้เกิดการ บูรณาการทำงานที่เป็นทิศทางเดียวกัน รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการระหว่างภาคีทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนบรรลุเป้าหมายตามแผนชาติ กองนโยบายเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจหลักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวทางความร่วมมือภาคีเครือข่าย การขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่เป้าหมาย 5 ล้านไร่" ขึ้น ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ โรงแรมตรัง กทม. เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือของเครือข่ายทุกภาคี ทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน และเพื่อขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนสู่เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน 5 ล้านไร่ ต่อไป
สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ภาครัฐจากส่วนกลาง ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในพื้นที่ 12 จังหวัด ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำเกษตรกร และผู้แทนภาคประชาสังคม 15 องค์กร รวมจำนวน 120 คน ซึ่งมาร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ที่จะก่อให้เกิดการขยายผลการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม