หากเรามองเข้าไปในแวดวงคณาจารย์ชาวต่างประเทศที่เข้ามาสอนอยู่ในประเทศไทยแล้วน่าจะมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย แต่ที่โดดเด่นทั้งด้านวิชาการและหรือจนถึงขั้นตั้งรกรากมีครอบครัวจนพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล้วก็คงหาตัวได้ไม่ยากนัก และหนึ่งในจำนวนนักวิชาการชาวต่างประเทศที่กล่าวถึงนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.หลี่ เหรินเหลียง รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิจัย คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่เป็นชาวจีน จากเมืองฉางโจว ประเทศจีน คือบุคคลที่ อปท.นิวส์ จะขอนำท่านผู้อ่านมารู้จักกันในฉบับนี้
ดร.หลี่ ในวัย 56 ปี กล่าวด้วยภาษาไทยอย่างคล่องแคล้วราวกับเป็นคนไทยคนหนึ่งกับเราว่า เมืองฉางโจว ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซูนั้น ห่างจากมหานครเซี่ยงไฮ้เพียง 100 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น มีคุณพ่อเป็นเกษตรกรปลูกข้าวจ้าวกับข้าวสาลี ส่วนคุณแม่เป็นคุณครูชั้นประถมศึกษา มีพี่น้อง 2 คน โดยดร.หลี่มีน้องชายอีก 1 คน อายุต่างกัน 5 ปี ซึ่งปัจจุบันเป็นคุณหมอ ในวัยเด็กก็มีชีวิตเหมือนทั่วๆ ไป คือเรียนหนังสือจากชั้นประถม ผ่านขึ้นไปยังมัธยมต้น มัธยมปลาย แล้วก็สอบติดเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศ ในสาขาวิชาวรรณคดีไทย ที่มีเปิดการเรียนการสอนเป็นการเฉพาะที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
อย่างไรก็ตาม การได้เข้ามาเรียนด้านวรรณคดีไทยนั้น เป็นเพราะถูกคัดเลือกให้มาเรียน ขณะที่ตอนนั้นอยากเรียนภาษาอังกฤษมากกว่า แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะตอนนั้นเพียงต้องการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้เท่านั้น โดยเรียนภาษาไทยอยู่ 5 ปี (คศ. 1987-1992) ก็เรียนควบคู่กับภาษาอังกฤษไปด้วย มีอาจารย์ผู้สอนภาษาไทยทั้งที่เป็นชาวจีน และอาจารย์คนไทย ซึ่งตอนนั้นบอกตรงๆ ว่า ยังไม่รู้จักประเทศไทยเลย และเมื่อเรียนจบก็ต่อเนื่องได้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ดร.หลี่ บอกด้วยว่า สำหรับการเรียนการสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งจะเปิดรับ 4-5 ปีต่อครั้ง โดยแต่ละครั้งจะรับนักศึกษาประมาณแค่ 10 คนเท่านั้น คือจบรุ่นหนึ่งแล้วถึงจะเปิดรับใหม่ ส่วนการเรียนภาษาไทยนั้นยากไหม ดร.หรี่ ยอมรับว่า ก็ยากอยู่พอสมควร และหลังจากเป็นอาจารย์สอนมาได้ 4-5 ปี ก็เริ่มศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ในสาขาด้านวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีก 3 ปี หลังจบโทแล้วก็ยังได้สอนต่อที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง
“ประมาณปี 2000 ก็ได้เข้ามาเมืองไทย โดยอยากจะเรียนในระดับปริญญาเอกต่อ ซึ่งก็ตั้งใจจะมาศึกษาต่อที่นิด้า เพราะขณะอยู่ที่จีนก็มีโอกาสได้ตอนรับคณะอาจารย์จากนิด้าที่ไปเยือนจีน ก็ได้รู้จักซึ่งชื่อเสียงของสถาบันนิด้า อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเมืองไทยเริ่มต้นที่การเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอันดับแรก โดยเริ่มสอนตั้งแต่ปี 2000 -2600 ต่อจากนั้นจึงเข้ามาเรียนต่อที่สถาบันนิด้าอีก 5 ปี ก็จบปริญญาเอกที่นิด้า ในคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร และก็เริ่มสอนที่นิด้ามาจนถึงปัจจุบันก็ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว”
ต่อข้อถามว่า ทำไมถึงพูดและเข้าใจภาษาไทยได้ดี ดร.หลี่ กล่าวยอมรับเป็นเพราะที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งสอนมาได้ดี มีความเอาใจใส่ ไม่รับพร่ำเพรื่อ คือจบในรุ่นหนึ่งแล้วถึงเปิดรับอีกรุ่น และก็รับจำนวนไม่มาก อย่างเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยก่อนหน้านี้ที่พูดภาษาไทยได้คล่อง ก็จบที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเช่นเดียวกัน
สำหรับการได้มาสอนนิด้าถือว่าดี โดยนิด้าจะเน้นด้านการทำวิจัย และการได้มาสอนในคณะเดียวกันกับที่จบมา คือคณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร ดังนั้น หลักสูตรที่สอนอยู่ก็จะเกี่ยวข้องกับการวิจัย วิจัยเชิงปริมาณ วิจัยเชิงคุณภาพ นอกจากนั้น ก็จะมีเรื่องทฤษฎีทางสังคม เรื่องการวางนโยบายทางสังคม การบริหารโครงการ การประเมินผลกระทบต่อสังคม การบริหารการพัฒนาทางสังคม เป็นต้น ก็ค่อนข้างจะหลากหลาย ซึ่งก็ได้สอนทั้งปริญญาโทและเอก
ปัจจุบัน ดร.หลี่ แต่งงานกับคนไทย ภรรยาทำงานธนาคาร มีลูกสาวแล้ว 2 คน อายุ 16 ปี กับ 12 ปี ส่วนความคิดเห็นต่อเมืองไทยนั้น ดร.หลี่ กล่าวว่า เนื่องจากได้เรียนและศึกษามาเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่แล้ว การได้มาอยู่ในประเทศไทยจึงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด และประเทศไทยก็น่าอยู่
“ภาพรวมประเทศไทย ทรัพยากรต่างๆ ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าในแง่ของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวก็มีความหลากหลาย ทางเหนือทางใต้ มีทะเล ภูเขา อะไรต่างๆ ที่น่าสนใจ ทรัพยากรทางดานการเกษตร ไม่ว่าจะเปป็นข้าว มันสำปะหลัง อะไรต่างๆ ก็มีความสมบูรณ์ อันนี้ก็คือสิ่งที่มีความได้เปรียบของประเทศไทย และก็ประชาชนชาวไทยก็มีน้ำใจเป็นมิตรต่อกัน ก็หมายความว่าทั้งคนไทยด้วยกันเองและก็กับชาวต่างชาติด้วย ก็เป็นจุดแข็งของประเทศไทย รวมถึงที่ตั้งอะไรต่างๆ ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีที่ตั้งก็อยู่ตรงกลาง ทางเหนือก็ไป ลาว ไปจีน เชื่อมต่อกันได้ ทางใต้ก็ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น”
สำหรับการหลักการในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ดร.หลี่ บอกว่า หนึ่งก็ด้วยอาชีพ สองก็ด้วยสถาบันนิด้าที่มีชื่อเสียง ซึ่งคนที่เข้ามาก็คาดหวังในนิด้าค่อนข้างสูง ดังนั้น เมื่อได้มาสอนที่นิด้าจึงต้องทำให้ดี เพราะฉะนั้น ตัวเราก็ต้องไปพยายามไปค้นคว้า ค้นหาเนื้อหาใหม่ๆ มาสอนให้ดี ทั้งของจีนของไทย เป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอน เรื่องของนโยบาย เรื่องของสังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกส่วนก็เป็นเรื่องการวิจัยสิงใหม่ๆ องค์ความรู้ เป็นเคส เป็นกรณีศึกษา เป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อจะไปต่อยอดทฤษฎีที่เราเรียนมา ก็สอดคล้องกับภาระกิจของนิด้า
“ตอนนี้ที่มีวิจัยอยู่ก็มีเยอะอยู่ อย่างเช่นพวกมาตรฐานส่งยางหรือผลิตภัณฑ์ยางที่ไปจีน เรื่องแม่น้ำแม่โขง เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน คือเน้นทางด้านสังคม ส่วนเรื่องฟรีวีซ่าไทยกับจีนก็ถือเป็นเรื่องดี ก็เป็นเรื่องที่เอื้อความสะดวกให้กับทั้งสองฝ่าย คนจีนมาเที่ยวเมืองไทยไม่ต้องขอวีซ่า คนไทยไปจีนก็ไม่ต้องขอวีซ่า ก็เป็นมาตรการที่ดี โดยคนจีนมาเที่ยวเมืองไทยปีหนึ่งก็สิบกว่าล้าน พอโควิดผ่านไปนักท่องเที่ยวจีนก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปีนี้ในครึ่งปีแรก นักท่องเที่ยวจีนก็เข้ามาแล้วเกือบจะ 3 ล้านกว่าๆ โดยเป้าหมายก็น่าจะอยู่ที่ 8 ล้านกว่าคน”
ต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลไทยจะเปิดวีซ่าเพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศ จะส่งผลให้เกิดธุรกิจมืดหรือไม่ ดร.หลี่ บอกว่า เรื่องนี้ไม่น่าเกี่ยวกับการให้ฟรีวีซ่า เพราะปัญหาดังกล่าวก็มีอยู่แล้วก่อนเปิดฟรีวีซ่า หรือหลังเปิดฟรีวีซ่าก็ไม่มีตัวเลขหรือตัวบ่งชี้อย่างมีนัยสำคัญว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ทั้งนี้ ก็ต้องอยู่ที่มาตรการการดูแลควบคุมของไทยเองด้วยที่ต้องเคร่งครัดทางด้านกฎหมาย
คือเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วไม่ว่าชาติไหน ต้องมาตรการการดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว และมีมาตรการในการตรวจตาการกระทำผิดต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วมีความสุข มีความปลอดภัย การกระทำผิดก็จะน้อยลง
ส่วนได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองจีนมากน้อยแค่ไหน ดร.หลี่ บอกว่า ก็ไม่ค่อยได้กลับเท่าไหร่ เพราะงานเยอะ แต่ก็ได้พาครอบครัวและเด็กๆ ไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าที่เมืองจีนมาบ้างแล้ว โดยดร.หลี่ บอกด้วยว่า ตัวเขาจะมุ่งที่การทำงานเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าการได้ทำงานก็เหมือนกับการได้ออกกำลังกายอยู่แล้ว ส่วนอนาคตจะทำอย่างไรยังไม่ได้คิด ก็ขอทำงานที่นิด้าต่อไปเรื่อยๆ