ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
ท้องถิ่นไทย ย้อนกลับ
สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน
11 ก.ย. 2567

ภัยพิบัติที่รุนแรงเกินจะรับมือ ทำให้หลายครั้งประชาชนเดือดร้อน ขณะที่ “เทศบาล” ก็ถือเป็นอีกหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ ที่จะเป็นแหล่งประสานหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ โดยนายกเทศมนตรีที่เป็นหัวหน่วยงานเทศบาล จึงเป็นอีกหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

 ด้วยเหตุนี้ อปท.สนิวส์เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จึงจะขอนำเสนอ คุณสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง กว่าจะได้รับ 83 รางวัล ระดับในประเทศและสากล ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนภาระให้เป็นพลังขับเคลื่อน”

สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน หรือที่คนน่านทั่วไปรู้จักในชื่อที่คุ้นเคยว่า “นายก ตี๋”  เป็นคนเกิดที่กรุงเทพมหานคร เหมือนคุณแม่ที่เป็นคนกรุงเทพฯ แต่คุณพ่อเป็นคนจังหวัดน่าน ซึ่งหลังจากแต่งงานกันแล้ว ทั้งคู่จึงย้ายกลับมาที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และผมก็เรียนหนังสืออยู่ที่อำเภอนี้ด้วย ก่อนจะไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และต่อมาจบปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายก ตี๋ บอกกล่าวกับเรา

ซึ่งก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองน่านมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานถึง 4 สมัย หรือระยะเวลากว่า 16 เขาได้สะสมประสบการณ์มาจากการเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ด้วยวัย 25 ปี หลังจากนั้นรับหน้าที่รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน (อบจ.) ได้ช่วยนายก อบจ.น่าน นายกนรินทร์บริหารงาน อบจ.น่าน  ซึ่งยุคดังกล่าว สนใจเรื่องความสัมพันธ์กับคนในชุมชน และริเริ่มกระบวนการพัฒนาแบบเข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงลงมือพัฒนาตามแบบอย่างของศาสตร์พระราชา พร้อมลงพื้นที่เคาะประตูชาวบ้าน ดูแลบริหารหน่วยกู้ภัยไปทั่วทิศ ภายใต้สโลแกน “ตายเก็บ เจ็บส่ง โลงฟรี” จนเป็นที่เลื่องลือ

การบำบัดทุกข์บำรุงสุข โดยเฉพาะต่อยอดแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ปรับปรุงถนนเพื่อขนส่งผลผลิตไปสู่ตลาด การพัฒนาแหล่งไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งด้วยฝายชั่วคราว กระทั่งคณะผู้บริหาร อบจ.น่าน ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการบริหารจัดการที่ดี พร้อมฉายาจากประชาชนว่าเป็น “ยาสามัญประจำน่าน”

และประสบการณ์จากอุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2549 ทั่ว จ.น่าน ที่มีฝนตกหนักจากร่องมรสุมพาดผ่าน  ถือว่าหนักสุดในรอบเกือบ 50 ปี หลังจากที่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2506 ที่ผ่านมา “รองนายก ตี๋” พร้อมผู้บริหาร อบจ.น่าน ลงพื้นที่สูงที่เป็นต้นธารไหลเชี่ยวกรากลงสู่แม่น้ำน่านสายหลัก ก่อนที่จะเดินทางแข่งกับกระแสมวลน้ำ กลับมาเรียกร้องให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งศูนย์ช่วยเหลือและบริหารจัดการผู้ประสบภัยพิบัติในเขตเทศบาลเมืองน่าน ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ก็ไม่รอดพ้นความเสียหายที่เชื่อว่ามีมูลค่าหลายพันล้านบาท

“รองนายก ตี๋” ขณะนั้นเรียกร้องให้มีการเขียนคู่มือป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยดังกล่าว เชื่อว่าต้นตอมาจากป่าไม้ที่เสมือนพื้นที่ซับน้ำถูกบุกรุกทำลายลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะสาเหตุจากชาวบ้านขาดแคลนที่ดินทำกิน รวมตลอดถึงสภาพกีดขวางทางระบายน้ำจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่สมบูรณ์ และไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงอุทกภัยในภาคเหนือ ทั้งน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุม พายุหมุนเขตร้อนและร่องความกดอากาศต่ำ ที่พาดผ่านภูมิภาคนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว

“ความจริงการแก้ภัยพิบัติต้องรู้เท่าทัน และการแจ้งเตือนประชาชนต้องแม่นยำ และต้องมีความชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนั้น น้ำท่วมแบบฉับพลันโดยไม่ทันตั้งหลัก ได้สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดน่าน ไม่ได้กินข้าว 3 วัน ไม่มีไฟฟ้าใช้ รองนายก ตี๋ ย้ำถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และระบุว่า ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ 6 อำเภอตอนบนต้นแม่น้ำน่าน คือ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.สองแคว อ.ปัว และ อ.ท่าวังผา นับเป็นสาเหตุเบื้องต้นของการเกิดน้ำท่วมในตัวเมืองน่าน การพยากรณ์และการเตือนภัย จึงต้องอาศัยวิเคราะห์ข้อมูลน้ำฝนในพื้นที่ดังกล่าวมาประกอบ เพื่อมีเวลาเพียงพอสำหรับขนย้ายสัตว์เลี้ยง สิ่งของ หรืออพยพขึ้นที่ปลอดภัย

จากสถิติที่ผ่านมา เมื่อฝนเฉลี่ยของพื้นที่ 6 อำเภอต้นน้ำสูงถึง 100 มม. ติดต่อกัน 48 ขั่วโมง  หลังจากนั้นประมาณ 12 ชั่วโมง จะมีผลให้เกิดน้ำหลากในแม่น้ำน่านวัดระดับได้ที่ 9.50 เมตร ที่สถานี N.64 ใกล้ อ.ท่าวังผา ซึ่งระดับน้ำนี้จะส่งผลให้ระดับน้ำที่ สถานี N.1 ในตัวเมืองขึ้นถึงระดับวิกฤติที่น้ำเต็มฝั่งในอีก 6-7 ชั่วโมงต่อมา โดยเริ่มต้นจากการตั้งชมรม “ฅนต้นน้ำน่าน” ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิต่างๆ นำ อปท.ให้เข้าใจสภาพป่าซับน้ำที่หายไป และนำสู่การฟื้นฟูกลับคืนมาอย่างสมดุล

ต่อมา “นายก สุรพล” เข้าสู่ตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองน่าน จากชัยชนะเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2551 ที่ชูนโยบายป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก และได้ทดสอบฝีมือจากมหาอุทกภัยอีกในปี 2554 ครั้งนั้นมวลน้ำยังได้สร้างผลกระทบและความเสียหาย ลามไปถึงกลางน้ำปลายน้ำคือ กรุงเทพมหานคร ท่ามกลางความขาดแคลนด้านงบประมาณ อุปกรณ์และบคลากรที่เคร่งครัดวินัย พร้อมทุ่มเทให้กับงานอย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง

“ผมได้ศึกษาและเฝ้าระวังพายุไหหม่าดังกล่าว โดยแผนที่ดาวเทียมของกรมอุตุฯ แม้แจ้งเตือนระวังน้ำท่วมเป็นระยะ แต่สุดท้ายก็ท่วมใกล้เคียงกับปี 2549 นอกจากน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งมาจากแม่น้ำน่านแล้ว ยังพบด้วยว่าปริมาณฝนที่ตกในเขตเทศบาลเมืองน่านแล้ว ยังมีมวลน้ำจากพื้นที่ด้านทิศตะวันตกไหลทะลักเข้ามาสมทบอีกด้วย”

นับจากนั้น “นายก สุรพล” จึงประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอสนับสนุนโครงการเพิ่มเติมพนังกั้นน้ำริมตลิ่ง ปรับปรุงระบบเปิด-ปิดของช่องระบายน้ำ พร้อมด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้น ให้รับมือได้กับทุกสถานการณ์

การศึกษาระเบียบและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อกับอำนาจหน้าที่ของเทศบาล ซึ่งเชื่อมโยงกรอบงานต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย ชุมชนมีส่วนร่วมจัดการขยะ ประกอบกับวิธีมวลชนสัมพันธ์ให้ลูกบ้านใช้วิถีชีวิตอย่างไม่สร้างภาระให้สังคม เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพตนเอง ไปสู่เป้าหมายวิสัยทัศน์ “เมืองแห่งคนอายุยืน คืนถิ่นเอกลักษณ์เมืองเก่า เรามุ่งเป็นชุมชนแห่งปัญญา ปรารถนาสู่สังคมคุณภาพ”

ด้วยภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้เอง สอดคล้องกับการประกาศให้เป็นเมืองเก่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2548 ทำให้เมืองน่านได้รับความนิยมเป็น “ห้องรับแขก” หรือต้นทุนของเมืองท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนกลุ่มฐานรากกว่า 300 ครอบครัว เช่นพื้นที่กิจกรรม “ถนนคนเดิน” เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถนำอาหารและของที่ระลึก มาวางจำหน่ายอยู่บนท้องถนนในช่วงค่ำคืน เมื่อถึงรุ่งเช้าก็กวาดเก็บเรียบร้อย สะอาดตา โดยความร่วมมือชาวชุมชนและนักท่องเที่ยวเอง

สำหรับการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือหลัก “ธรรมาภิบาล” นั้น หมายถึงแนวทางการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชนและภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรม นายก สุรพล เล่าว่า ช่วงหลังการเลือกตั้งครั้งที่สอง กลุ่มการเมืองของตนได้สมาชิกสภาเทศบาลเข้ามาเพียงคนเดียว ที่เหลือเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างมาก อยู่คนละทีมคนละฝ่าย แต่ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างทำให้มือของทุกฝ่ายยื่นเข้ามาหากัน

“การมีสติ ไม่ร้อนรน เชื่อว่าทุกคนมีความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ถ้าเราพยายามเปิดใจให้กว้าง ทุกฝ่ายก็จะผ่อนปรนและยื่นมือเข้าหากัน และทำงานด้วยความสำเร็จ”

ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 คุณสุรพล เธียรสูตร ยังได้รับพระราชทานรางวัลชัยนาทนเรนทร นักการสาธารณสุขดีเด่น ประเภทผู้นำชุมชน ประจำปี 2566 จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้า ล้นกระหม่อม เป็นเกียรติอันสูงสุด

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 กันยายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...