ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ อุบาลี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
11 ก.ย. 2567

การศึกษาที่มีคุณภาพ หลายคนอาจมองที่หลักสูตรที่ดี หรือชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนั้นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวสะท้อนศักยภาพนักศึกษาเป็นได้อย่างดี ก็คืออาจารย์ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะนักศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างนักศึกษาคุณภาพที่มีองค์ความรู้และมีต้นทุนทางอนาคตเพื่อพัฒนาชาติต่อไป

อปท.ส์นิวเชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงจะขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ อุบาลี คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี หรือ อาจารย์ตุ๋ม ผู้บริหารที่มีแนวคิดปลุกปั้นแนวทางการศึกษาที่มากกว่าแค่ตำราเรียน แต่เป็นการมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่เน้นทำงานเป็น และรู้จักนำความรู้ที่มีมาพัฒนาพื้นที่ในท้องถิ่นให้เติบโต โดยใช้ความเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎมาเป็นจุดแข็ง

อาจารย์ตุ๋ม เล่าว่า เขาเป็นคนเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีคุณพ่อคุณแม่ รับราชการเป็นครูทั้งคู่ วัยเด็กได้ศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย สุพรรณบุรี ก่อนที่ต่อมาจะมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ที่สถาบันราชภัฎสวนดุสิต หลังเรียนจบได้มีโอกาสทำงานที่แรกที่สำนักความมั่นคงกิจการชายแดนและการป้องกันประเทศ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ในระหว่างที่ทำงานก็มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคณะรัฐศาสตร์ สาขาการบริหารรัฐกิจ และพอสำเร็จการศึกษาแล้วก็ได้ไปทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งอาจารย์ตุ๋ม ได้เล่าอีกว่า

                “หลังจากทำงานได้ประมาณ 2 – 3 ปี รู้สึกว่าอยากทำงานด้านวิชาการมากขึ้น จึงตัดสินใจมาสมัครสอบเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี โดยระหว่างที่ทำงานได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองด้วยการไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา ยุทธศาสตร์และความมั่นคง มหาวิทยาลัยบูรพา”

                เหตุผลที่ทำให้อาจารย์ตุ๋มเลือกที่จะมาเดินเส้นทางการศึกษานั้น เขาเล่าว่า ตอนที่ได้ทำงานอยู่ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทําเนียบรัฐบาล ลักษณะงานที่ทำก็เป็นงานวิชาการในมิติทางนโยบายความมั่นคงของชาติ และถือว่าเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีบทบาทเสนอความเห็นในมิติด้านความมั่นคงต่อรัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดของการทำงานภายใต้ระบบราชการ ที่ผ่านมาทำให้ความรู้ทางวิชาการที่มีอาจไม่สะท้อนออกมาได้อย่างตรงไปตรงมา หรือในบางครั้งก็ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นบนหลักการทางวิชาการได้อย่างเต็มที่นัก ซึ่งอาจจะต่างจากการเป็นอาจารย์ การเป็นนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ ที่สามารถสื่อสาร แสดงความคิดความเห็นบนหลักการทางวิชาการ รวมทั้งบทบาทการชี้นำสังคมได้ดีกว่า

                หลังจากการทำงานในตำแหน่งอาจารย์ ระหว่างนั้นก็ได้พยายามที่จะพัฒนาตัวเองด้วยการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก และการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการในระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ นอกจากนี้ ก็ได้มีโอกาสในการทำงานด้านการบริหารด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ตำแหน่งผู้ช่วยคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ตำแหน่งรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา

หลังจากที่ได้เป็นผู้ช่วยอธิการบดีประมาณ 1 ปี ตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ได้ว่างลง ซึ่งก็ได้มีกระบวนการสรรหา ช่วงนั้นก็มีผู้ใหญ่หลายท่านอยากให้มาช่วยทำงานให้กับคณะ จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการสรรหาและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณบดี

                “ช่วงที่นำเสนอวิสัยทัศน์เพื่อจะมาเป็นคณบดี ก็เป็นการนำภารกิจของคณะที่มีหลักๆ อยู่ 3 ภารกิจ ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนหรือผลิตบัณฑิต การวิจัย และการบริการวิชาการหรือการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งคิดว่า ถ้าเราแยก 3 ภารกิจ ต่างคนต่างทำ ก็อาจเป็นภาระที่มากเกินไป ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า ทั้ง 3 ภารกิจ น่าจะเดินไปพร้อมๆ กันได้ ภายใต้หลักคิดของการใช้ห้องเรียน ห้องวิจัย และห้องทดลอง เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นใหม่ ที่เรียกว่า “ห้องปฏิบัติการทางสังคม” หรือภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Social lab มาวางเป็นกรอบทิศทางให้อาจารย์ทำภารกิจ 3 ภารกิจไปพร้อมๆ กัน ได้แก่”

“การใช้ห้องปฏิบัติการทางสังคม ในการสอนด้วยการเรียนรู้วิถีจริงของท้องถิ่นตามศาสตร์นั้นๆ  ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้ก็นำไปสู่การทำเป็นการศึกษาวิจัยออกมา แล้วนำผลวิจัยไปแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่นที่ถือเป็นการพัฒนาท้องถิ่นไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานของอาจารย์จะไม่อยู่แต่บนหอคอยงาช้าง และการทำงานของชุมชน ชาวบ้าน ไม่เลือนลอยแบบเดิมแต่อยู่บนหลักการที่เป็นเหตุเป็นผลทางวิชาการสนับสนุน”

                อาจารย์ตุ๋ม บอกเสริมอีกว่า การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ จะแตกต่างจากการเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ตรงที่มหาวิทยาลัยใหญ่ได้เปรียบในทุกมิติทั้งด้านงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล องค์ความรู้ที่ทันสมัย ขณะที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเองเสียเปรียบในทุกประตู ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้ก็คือ การทำงานในฐานะที่เป็นเสาหลักทางวิชาการของท้องถิ่น พร้อมๆ กับการผลิตบัณฑิตที่จะเติบโตไปกับท้องถิ่น โดยเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติมากกว่าที่จะเป็นบัณฑิตที่เน้นวิชาการแบบเข้มข้น อันเป็นที่มาของบัณฑิตคณะมนุษยศาสตร์ฯ ว่า เป็น “บัณฑิตนักปฏิบัติการทางสังคม” ซึ่งบัณฑิตต้องทำงานเป็นผ่านกระบวนการคิดแบบสหวิทยาการศาสตร์ ด้วยการใช้พื้นที่ชุมชนท้องถิ่นเป็นห้องปฏิบัติการในการเรียนรู้ระหว่งเรียน และเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไป ก็จะสามารถนำประสบการณ์จากการเรียนไปพัฒนาพื้นที่ท้องถิ่นของตนให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อทาง อปท.นิวส์ ถามถึงมุมมองมาตรฐานการศึกษาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคม ทางอาจารย์ตุ๋มในฐานะเป็นคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ได้เผยว่า ความเชื่อในสังคมไทยส่วนใหญ่ต้องการส่งลูกหลานไปเรียนในมหาวิทยาลัยใหญ่เพื่อโอกาสที่ดีกว่า แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต้องการการพัฒนาศักยภาพ โดยเฉพาะคนในระดับท้องถิ่น ดังนั้น บทบาทของราชภัฏไม่ได้ต้องการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยใหญ่

แต่เราต้องวางบทบาทของตัวเองใหม่ ด้วยการเป็นมหาวิทยาลัยหรือเป็นเสาหลักทางวิชาการให้กับชุมชนท้องถิ่น สร้างความเข็มแข็งให้กับท้องถิ่นแบบยั่งยืน ด้วยการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น มีความรักความผูกพันกับพื้นที่ท้องถิ่น เป็นบัณฑิตที่อยู่ติดกับพื้นที่เพื่อพัฒนาและเติบโตกับพื้นที่ไปพร้อมๆ ด้วยการใช้ความรู้ วิธีคิด จากการเรียนทั้งในมหาวิทยาลัยและการเรียนรู้นอกมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยราชภัฏจะไม่ใช่เสาหลักทางวิชาการแบบหอคอยงาช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องปรับบทบาทลงมาทำงานร่วมกับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาไปด้วยกัน

ด้านวิธีคิดการบริหารงานในองค์กร อาจารย์ตุ๋ม ก็จะยึดของการทำงานที่มีความสุข เพราะคิดว่า ชีวิตมนุษย์ที่ประเสริฐก็คือ การมีชีวิตที่ มีครอบครัวที่ดี มีสังคมหรือเพื่อนที่ดี และมีบรรยากาศของการทำงานที่ดี ดังนั้น การทำงานในองค์กรจำเป็นต้องทำให้ทุกคนได้มีพื้นที่ในการทำงานอย่างมีความสุข แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เรามีชีวิตที่ดีก็คือเราต้องมีครอบครัวที่ดี วันนี้อย่าลืมว่า องค์กรไม่มีเราองค์กรก็ยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่ครอบครัวถ้าไม่มีเราครอบครัวเดินต่อไม่ได้ ดังนั้นเราต้องสร้างความสมดุลตรงนี้ให้ได้

ด้านแนวคิดที่ทำให้อาจารย์ตุ๋ม ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ได้บอกว่า เขาเป็นผู้ที่มองทุกเรื่องเป็นโอกาส แม้เรื่องที่ใครหลายคนอาจมองว่าเป็นปัญหา แต่ก็จะมองว่า อย่างน้อยก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้แก้ปัญหา คุณพ่อเคยสอนว่า “จงใช้โอกาสที่เรามีทำทุกอย่างให้เต็มที่ เพราะบางคนอาจไม่มีแม้โอกาสเสียด้วยซ้ำ” และไม่ว่าจะสมหวังหรือผิดหวัง เพียงแค่ได้ทำก็ถือว่าสำเร็จแล้ว คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้เล่าทิ้งท้ายถึงการแก้ปัญหากับอุปสรรคเอาไว้ว่า

ในการทำงานด้านบริหารปัญหาไม่ได้อยู่ที่งาน แต่ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ที่การบริหารคน สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาบริหารเราต้องเจอกับวิธีคิดต่างๆ ของคนที่หลากหลาย การเป็นผู้บริหารจึงต้องใช้บทบาทการสร้างความร่วมมือมากกว่าการใช้การสั่งการแบบ Top down ใช้การทำงานเป็นทีมมากกว่าทำงานแบบ one man show ผู้บริหารจึงไม่ใช่แค่การใช้ศาสตร์ทางการบริหาร แต่ต้องใช้ศิลปะในการทำงานร่วมกับคนให้ได้ด้วย

“สำหรับผมเองไม่ต้องคาดหวังอย่างเอาเป็นเอาตายกับการทำงานของทุกคนให้สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะแม้แต่ตัวเราเองก็ยังคาดหวังตัวเองได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จะไปคาดหวังอะไรกับคนอื่น ดังนั้น การทำงานก็คาดหวังแค่ความร่วมไม้ร่วมมือในสิ่งที่ทุกคนทำได้ก็พอ เช่น ถ้าใครช่วยทำอะไรได้ก็ขอให้ช่วยทำ ถ้าใครช่วยคิดอะไรได้ก็ขอให้ช่วยคิด ถ้าใครช่วยคิดก็ไม่ได้ ช่วยทำก็ไม่ได้ ก็ขอให้เป็นกำลังใจให้กันก็พอ”

“แต่หากแม้กำลังใจก็ยังช่วยให้กันไม่ได้ก็ขอให้จงอยู่เฉยๆ อย่างสร้างความวุ่นวายก็พอ การทำงานร่วมกับคนก็อย่าไปวิตกกังวลจนเสียความรู้สึกท้อแท้จนทำอะไรต่อไปไม่ได้ เพราะคนเราไม่เหมือนกัน คนมีความแตกต่างกัน เราต้องเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แล้วเราจะอยู่กับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...