นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุม Web Conference ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 มีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้การขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบหลักในการดำเนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน 10 เรื่อง ประกอบด้วย
1) สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง 2) คนไทยไม่ทิ้งกัน 3) ชุมชนอยู่ดีมีสุข 4) วิธีไทยวิถีพอเพียง 5) รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย 6) รู้กลไกการบริหารราชการ 7) รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม 8) รู้เท่าเทียมเทคโนโลยี 9) ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด และ 10) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) โดยมีเป้าหมายการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ดำเนินการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 76 จังหวัด 878 อำเภอ และพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขต ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโรงการไทยนิยม ยั่งยืน รวม 7,663 ทีม พื้นที่ 83,151 แห่ง
ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีส่วนร่วมการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) คนไทยไม่ทิ้งกัน แผนงานเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ งบประมาณ 693 ล้านบาท 2) ชุมชนอยู่ดีมีสุข แผนงานการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ งบประมาณ 14,203 ล้านบาท และ 3) งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน (Function) พัฒนาชุมชน/กลุ่ม ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับกลไกการบริหารราชการ งบประมาณ สร้างการรับรู้ และมีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน งบประมาณ 10,090 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 24,294 ล้านบาท
โดยทำการชี้แจงทำความเข้าใจเมนูโครงการอาชีพต่าง ๆ ให้ชัดเจนกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด อำเภอ และตำบล ทั่วประเทศ เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน มีการเตรียมความพร้อมทั้งจำนวนคนที่จะร่วมทีมให้เพียงพอกับพื้นที่ รวมทั้งให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วย นอกจากนี้ในวันที่ 21 ก.พ. จะเป็นการคิกออฟ พร้อมกันตำบลละ 1 หมู่บ้าน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาความเดือดร้อนเยี่ยมเยียนรายครัวเรือนและรายบุคคล ค้นหาความต้องการของประชาชนเพื่อจัดทำโครงการเสนอตามกรอบการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ต่อไป
สำหรับเมนูอาชีพภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. โครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงเกษตรฯ 2. โครงการจ้างแรงงานชลประทานสร้างรายได้แก่เกษตรกร 3. โครงการพัฒนาอาชีพชาวสวนยางรายย่อยเพื่อความยั่งยืน 4. โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลินสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสม 5. โครงการศูนย์ขยายพันธ์พืช 6. โครงการผลิตเมล็ดพันธ์ดี 7. โครงการขยายพันธุ์สัตว์และส่งเสริมการผลิตการผลิตปศุสัตว์
8. โครงการสร้างทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร 9. โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร 10. โครงการพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ 11. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่สถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร 12. โครงการสนับสนุนอุปกรณ์แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 13. เพิ่มศักยภาพการรวบรวมและการแปรรูปยางพาราในสถาบันเกษตรกร 14. โครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ 15. สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง
16. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (ยางแห้ง) 17. โครงการยกระดับโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปครบวงจร 18. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมแปรรูป 19. โครงการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดหาแหล่งน้ำชุมชน และ 20. โครงการพัฒนาโครงสร้างด้านแหล่งน้ำชลประทาน