ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.เป็นองค์กรภาครัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบครบวงจร ซึ่งการบริหารจัดการยางทั้งระบบนั้น ต้องเข้าถึงข้อมูลปริมาณพื้นที่ปลูกยางพาราในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาด การวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบยาง และการนำข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศสู่การต่อยอดในโครงการต่างๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกยางอยู่หลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลตัวเลขพื้นที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีวิธีการดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นโครงการใช้ดาวเทียมในการสำรวจพื้นที่ปลูกยาง จะเป็นการร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมและผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ต่างๆ จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นที่ปลูกยางที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและง่ายต่อการบริหารจัดการในอนาคต
ดร.ธีธัช กล่าวต่อว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการสำรวจข้อมูลภูมิสารสนเทศ จะเข้ามามีส่วนช่วยในการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศด้วยดาวเทียม โดยร่วมกับ กยท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ปลูกยางจากพื้นที่ตัวอย่างจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นจุด กระจายตามสัดส่วนของพื้นที่ปลูกยางในแนวเขตที่ดินของรัฐ ได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 850 จุด พื้นที่ป่าสงวน อ.อ.ป. ส.ป.ก. จำนวนไม่น้อยกว่า 9,300 จุดและพื้นที่อื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 9,850 จุด และมีการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในพื้นที่จำนวน 5 ครั้ง
ส่วนสถานการณ์ยางพาราไทยตั้งแต่มีการร่วมมือกับอินโดนีเซียและมาเลเซียลดการส่งออกยางใน 3 เดือนแรกปีนี้ 3.5 แสนตันว่า ไทยต้องลดการส่งออกประมาณ 2 แสนตันเศษหากคิดราคายางปลายปี 2560 วันที่ 22 ธ.ค. 2560 ที่ 145 เซนต์/กก.เทียบกับขณะนี้ที่ 153 เซนต์/กก. ราคายางขยับขึ้นมาแล้ว 15% ดังนั้น แม้ไทยต้องลดส่งออก 2 แสนตัน แต่ถ้าราคายางขยับจาก กก.ละ 40 บาท ขึ้นไปถึง กก.ละ 60 บาท มูลค่ายางจะเพิ่มขึ้นมาก
ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวด้วยว่า ในปี 2558 เป็นช่วงที่ผลผลิตยางธรรมชาติในหลายประเทศออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ตลาดล่วงหน้ามีการเก็งกำไรอย่างหนัก ทำให้ราคายางปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง จนกระทั่งปี 2559 หลังก่อตั้ง กยท. ภายใต้คณะกรรมการและผู้บริหารชุดปัจจุบัน ได้มีการแก้ปัญหาในช่วงที่ราคาปรับลดลงต่ำสุดที่ 35.55 บาทต่อกก. จนสามารถผลักดันให้ราคายางปรับตัวขึ้นได้ตามสภาวะปกติ โดยมีราคาปิดตลาดปลายปี สูงกว่า 80 บาทต่อกก.
จากเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ปลูกยางภาคใต้ที่สะสมมาจนถึงต้นปี 2561 ทำให้ปริมาณยางในตลาดลดลงมาก ยิ่งส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น จนไปแตะระดับราคากว่า 100 บาทต่อกก. แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในที่สุด ราคายางก็กลับเข้าสู่วงจรตลาดขาลง ซึ่งเกิดขึ้นสลับเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาล และตามสภาพการซื้อขายทั้งในประเทศ และตลาดซื้อขายล่วงหน้าต่างประเทศ คล้ายกับปี 2558 แต่ราคายางในประเทศไทยก็ยังไม่เคยลดลงต่ำกว่าราคาในช่วงธันวาคม 2558 ที่ปิดตลาดด้วยราคาประมาณ 36 บาทต่อ กก.
“จึงคาดการณ์ว่า ปี 2561 นี้ ราคายางซึ่งได้เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางหลายโครงการทั้งระยะสั้นและยาว ซึ่ง กยท.เองได้นำสู่การปฏิบัติตามนโยบายมาโดยตลอด และในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ราคากลับมายืนอยู่ที่ 47 บาทกว่าต่อ กก. และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นคล้ายปี 2559 หากต่อไปนี้ไม่มีสถานการณ์ของโลกที่ผิดปกติ หรือ การแทรกแซงทางการเมือง หรือการสร้างกระแสข่าวลบจากกลุ่มคนที่ละเลยประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะทั้งรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กยท.เอง ได้มีนโยบาย และมาตรการทั้งในและต่างประเทศในการมาช่วยผลักดันราคายางในประเทศเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวสวนยาง และเสถียรภาพราคายางอย่างต่อเนื่อง” ดร. ธีธัช กล่าว