วช. ขับเคลื่อนงานวิจัย สร้างสังคมปลอดภัยและยั่งยืนเพื่อเด็กและเยาวชนไทย
วันที่ 20 กันยายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการเสวนา เรื่อง “สร้างสังคมปลอดภัย เพื่อเด็กและเยาวชนไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ห้องโถงศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคาร วช. 8 และในรูปแบบออนไลน์ผ่านถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่าน Facebook : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย โดยเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างการเติบโตและความมั่นคงให้ประเทศในอนาคต โดย วช. ได้สนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญ เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและสังคม รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และทักษะชีวิตที่จำเป็น เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่มีคุณภาพและสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้อย่างเหมาะสม วช. เชื่อว่าการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งในครอบครัว ชุมชน และสังคม จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ และเติบโตเป็นคนดีของสังคมที่มีความหลากหลาย ผลการวิจัยของ วช. สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างครอบครัวที่เข้มแข็งและสังคมที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตอย่างปลอดภัยและมีความสุข และในวันนี้ตรงกับวันเยาวชนแห่งชาติ วช. จึงได้จัดการเสวนาเพื่อส่งเสริมให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน
ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “สถานการณ์ปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบันในมิติต่าง ๆ” ซึ่งได้กล่าวถึงสถานการณ์เด็กไทยในปัจจุบัน ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัญหาหลัก ได้แก่ เด็กออกจากโรงเรียนมากขึ้น ปัญหาจากโลกออนไลน์ อบายมุข แม่วัยใส ความรุนแรง สุขภาพจิต และการกระทำผิด โดยเฉพาะปัญหาอบายมุขที่เริ่มต้นในวัยเด็กมากขึ้น เช่น การดื่มสุราในวัย 8 ขวบ การพนันออนไลน์ และบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ปัญหาแม่วัยใสก็เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เพราะมีเด็กหญิงไทยวัยรุ่นคลอดบุตรมากขึ้นถึง 3 เท่าใน 10 ปีที่ผ่านมา
ปัญหาเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ครอบครัว และชุมชน โดยต้องบูรณาการนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษาคุณภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ดูแลสุขภาพกายใจ และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ซึ่งแผนงานวิจัยสังคมไทยไร้ความรุนแรง ที่ วช. ให้การสนับสนุนเป้นตัวอย่างของงานวิจัยที่ใช้แก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน เป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในวงกว้าง เช่น การนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาใช้ในการป้องกันการกระทำผิด หรือการสร้างโรงเรียนต้นแบบเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง
ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในแนวทางนี้คือการตระหนักถึงบทบาทของเด็กและเยาวชน ในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าสูงสุดของประเทศ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านปัญญา สังคม หรืออารมณ์ นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า จะส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้สามารถเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกทางสังคมที่เข้มแข็ง และมีความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา เรื่อง “สร้างสังคมปลอดภัย เพื่อเด็กและเยาวชนไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ซึ่งมีประเด็นดังนี้
- “คิดก่อนทำ เติมพลังฮึบ!! สร้างคุณนะทำดี” โดย ดร.กนกพร ดอนเจดีย์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งเน้นการสร้างวินัยและจริยธรรมในเด็กและเยาวชน
- “เด็กแกร่งด้วยความเข้มแข็งของครอบครัว” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาภาพร เผ่าวัฒนา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของครอบครัวที่เป็นรากฐานของการพัฒนาความสามารถและความมั่นคงทางจิตใจของเด็ก
- “Child Shield: เกราะคุ้มภัยของเยาวชน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิจิตรพงศ์ สุนทรพิพิธจากมหาวิทยาลัยมหิดล และ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ที่นำเสนอแนวคิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อปกป้องเด็กจากภัยอันตรายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
การเสวนาครั้งนี้ ถือเป็นเวทีให้นักวิชาการ นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจ เพื่อหาแนวทางในการสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อปกป้องเด็กจากภัยอันตรายต่าง ๆ