นายวิทวัส นวลอินทร์ หรือ "พี่เค" นวัตกรชุมชนจากชุดโครงการกรุ่นกลิ่นเสน่ห์ห้อมย้อมห้อมธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจท่องเที่ยววัฒนธรรมเวียงโกศัย จังหวัดแพร่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า เริ่มต้นโครงการวิจัยนี้เพราะพบว่าผ้าย้อมห้อมธรรมชาติที่ผู้บริโภคซื้อใช้งาน มักมีปัญหาสีตก สีซีดเร็ว ซึ่งทำให้ไม่ได้รับความนิยมและถูกแทนที่ด้วยการย้อมเคมีซึ่งเป็นที่นิยมเนื่องจากต้นทุนที่ถูกและกระบวนการที่รวดเร็ว
ขณะเดียวกัน การใช้สารเคมีบางชนิดในการย้อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ผลิต ดังนั้น การผลิตห้อมจากธรรมชาติที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจึงเป็นทางออกทั้งในเรื่องของสุขภาพ ระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและการรักษาคุณค่าทางวัฒนธรรม จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผ้าย้อมห้อมมีคุณภาพที่ดีขึ้น มาจากการลงพื้นที่และต่อยอดกับนักวิจัยด้วยการนำเทคโนโลยีพลาสมามาใช้ ซึ่งเป็นการนำอากาศมาทำให้แตกตัวและปล่อยอนุมูลอิสระออกมาเพื่อปรับปรุงพื้นผิวของเส้นใยผ้า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเส้นใยทำให้ผ้ามีความสามารถในการดูดซึมสีได้ดีขึ้น สีติดทนนานกว่าเดิม อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการซีดและป้องกันแสง UV ได้อีกด้วย
"เมื่อเราเอาพลาสมามาใช้กับเส้นใยธรรมชาติ จะเกิดคุณสมบัติที่เรียกว่า “ชอบน้ำ” ทำให้สีธรรมชาติซึมเข้าสู่เส้นใยได้มากขึ้นและติดแน่นกว่าเดิม ผลจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่าผ้าที่ผ่านกระบวนการพลาสมานั้นมีความเข้มของสีที่มากกว่าผ้าที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์”
นอกจากการปรับปรุงคุณภาพผ้าแล้ว เทคโนโลยีพลาสมายังทำให้ชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยทีมวิจัยให้ความสำคัญกับการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าย้อมห้อม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากลวดลายเครื่องประดับที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจังหวัดแพร่ และนำมาปรับเป็นลวดลายบนผืนผ้า รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานที่ยั่งยืนในชุมชน โดยกระจายงานตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้เกิดการแบ่งปันรายได้อย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาแพลตฟอร์มการขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์http://www.rujiradaphrae.comเพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมห้อมเข้าถึงตลาดได้กว้างขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ
“สิ่งที่เราขายไม่ใช่แค่ผ้าย้อมห้อมธรรมดา แต่เป็นงานศิลปะที่ทุกชิ้นมีคุณค่า มีเรื่องราว และแฝงนวัตกรรมเข้าไปในนั้น” พี่เคกล่าวถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากการขายผ้าย้อมห้อมแบบเดิม
การนำงานวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จึงไม่ใช่เพียงแค่การปรับปรุงคุณภาพสินค้าแต่ยังเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป
//////////////////// วัฒนะ แก้วก่า/สกลนคร 0819541528